คุณภาพการสอนเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษาในฮาร์วาร์ด ซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยในแต่ละยุคแต่ละสมัยต่างให้ความสำคัญมาโดยตลอด เห็นได้จากการจัดให้มีโปรแกรมอบรมการสอนและกิจกรรมพัฒนาผู้สอนที่มีความหลากหลายอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่เฉพาะเพียงแค่กลุ่มคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ในที่นี้ยังครอบคลุมไปถึงกลุ่มวิทยากรรับเชิญ ผู้ช่วยในวิชาที่เรียน (Course Assistance (CA) ผู้สอนที่เป็นบุคคลภายนอกในการสอนระดับบัณฑิตศึกษา (Graduate student teaching fellows (TFs)) และผู้ช่วยสอนอื่น ๆ (teaching assistants) ควบคู่ไปกับการจัดหาและจัดเตรียมทรัพยากรที่สำคัญจำเป็น ซึ่งช่วยทำให้การสอนมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
ตัวอย่างศูนย์เดเร็ค บ็อก เพื่อการพัฒนาการสอนและการเรียนรู้ (Derek Bok Center for Teaching and Learning) ศูนย์เก่าแก่ที่ฮาร์วาร์ดจัดตั้งขึ้นโดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากมูลนิธิ Danforth ซึ่งต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์เดเร็ค บ็อก เพื่อเป็นเกียรติให้อดีตอธิการบดี เดเร็ค บ็อก สำหรับวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้น ก็คือ เพื่อให้ทำหน้าที่ในการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีของวิทยาลัยฮาร์วาร์ดทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันศูนย์ฯ แห่งนี้นับได้ว่าเป็นแกนหลักสำคัญที่ช่วยพัฒนาและสนับสนุนการสอนให้เหล่าคณาจารย์และครูผู้สอนในระดับปริญญาตรีทุกประเภท ที่สอนในคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Faculty of Arts & Sciences) ครอบคลุมกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งหมดถึง 6,400 คน
บริการพัฒนาและสนับสนุนการสอนที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ได้จัดให้กับเหล่าคณาจารย์และครูผู้สอน มีด้วยกันหลากหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น
การฝึกสอนแบบจุลภาค (Micro Teaching) เป็นกิจกรรมที่ทางศูนย์ฯ ได้จัดขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มผู้สอนและผู้ช่วยสอนที่จะเริ่มต้นสอนชั่วโมงแรกในชั้นเรียน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ และอาจารย์ผู้สอนจะเข้าไปพบปะพูดคุยกับกลุ่มผู้ช่วยสอนขนาด 5 – 6 คนเหล่านี้อย่างใกล้ชิด และเปิดโอกาสให้ได้มีส่วนร่วม ทั้งในบทบาทของการเป็นครูผู้สอนและการเป็นผู้เรียน โดยให้แต่ละคนได้จัดเตรียมการสอนของตนเองอย่างสั้น ๆ และฝึกสอนภายในกลุ่ม หลังจากนั้นจึงเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากเพื่อนร่วมกลุ่มเกี่ยวกับจุดแข็งจุดอ่อนของตนเอง รวมทั้ง เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นทั่วไปเกี่ยวกับแนวทางการสอนที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน ควบคู่ไปกับการใช้กรณีศึกษาจากเทปบันทึกวีดีโอและการพูดคุยแบบเป็นรายบุคคลกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ
การบันทึกวีดีโอเทปการสอนในชั้นเรียน เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยพัฒนาปรับปรุงการสอนให้อาจารย์หรือผู้สอน โดยหลังจากที่มีการบันทึกวีดีโอเทปการสอนในชั้นเรียนเสร็จแล้ว อาจารย์หรือผู้สอนจะต้องดูวีดีโอเทปการสอนนั้น ๆ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาของศูนย์ฯ อีกครั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ซึ่งในที่นี้อาจารย์หรือผู้สอนสามารถขอคัดลอกวีดีโอบันทึกเทปการสอนของตนเองลงใน DVD ได้หลังจากรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะดังกล่าวเสร็จ เพื่อนำกลับไปทบทวนดูแนวทางการสอนของตนเองอีกครั้งและพัฒนาให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป ซึ่งบริการทั้งหมดดังกล่าวจะไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
การรับฟังคำติชมจากนักศึกษา โดยทางศูนย์ฯ จะผลักดันให้นักศึกษาทำการประเมินผลการสอนของอาจารย์ผู้สอนทุกคนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 หรือ 4 ของภาคการศึกษา ซึ่งการรับฟังคำติชมของนักศึกษานี้ถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับการช่วยอาจารย์ผู้สอนในการพัฒนาปรับปรุงการสอนของตนเอง ซึ่งทางศูนย์ฯ จะจัดให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับผลการประเมินของนักศึกษาและให้คำปรึกษากับอาจารย์ผู้สอนเป็นรายบุคคล หลังจากที่ได้รับแบบฟอร์มการประเมินผลจากนักศึกษาแล้ว สำหรับชั้นเรียนที่มีขนาดเล็ก อาจารย์ผู้สอนอาจเลือกใช้วิธีการจัดการอภิปรายเพื่อรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาโดยมีบุคคลภายนอก อาทิ เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ เป็นผู้ดำเนินการจัดการอภิปรายดังกล่าวแทน
การสังเกตุการณ์การสอนในชั้นเรียน วิธีการนี้เหมาะสำหรับชั้นเรียนขนาดเล็ก หรือชั้นเรียนที่อาจารย์ผู้สอนคิดว่า การบันทึกวีดีโอเทปการสอนอาจจะเป็นการรบกวนสมาธิของนักศึกษา ซึ่งในที่นี้เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ จะเข้าไปเยี่ยมเยียนและสังเกตุการณ์การสอนของอาจารย์ผู้สอนในชั้นเรียนนั้น ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะทำให้อาจารย์ผู้สอนได้รับรู้ความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับวิธีการสอนของตนเองในมุมมองของผู้สังเกตุการณ์
การพัฒนาภาษาให้ผู้สอนที่เป็นบุคคลภายนอกในการสอนระดับบัณฑิตศึกษา (Graduate student teaching fellows (TFs)) ซึ่งไม่ใช่เจ้าของภาษา เพื่อทำให้การสอนของผู้สอนกลุ่มนี้ มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การพัฒนาทักษะการพูดโดยมิได้มีการเตรียมตัวล่วงหน้า การพูดคุยอย่างสั้น ๆ ในชั้นเรียน และการตอบคำถามอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
การร่วมมือกับภาควิชาจัดอบรมและพัฒนาทักษะให้ผู้ช่วยสอนใหม่ อาทิ โครงการ Teaching Apprenticeship Program ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ร่วมมือกับภาควิชาคณิตศาสตร์ จัดให้ผู้สอนที่เป็นบุคคลภายนอกในการสอนระดับบัณฑิตศึกษาที่เข้าร่วมการอบรม เข้าไปเยี่ยมเยียนและทำการบรรยายให้นักศึกษาในชั้นเรียน ส่วนภาควิชาอื่น ๆ ทางศูนย์ฯ ได้จัดให้มีกิจกรรม อาทิ การจัดสัมมนาการสอนสำหรับผู้ช่วยสอนใหม่ การจัดอบรมสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น การจัดกวดวิชาให้นักศึกษาปี 2 เป็นต้น
ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย ดังที่ศูนย์เดเร็ค บ็อก เพื่อการพัฒนาการสอนและการเรียนรู้ เป็นตัวแบบหนึ่งที่สำหรับมหาวิทยาลัยไทยที่น่าศึกษาเรียนรู้ เพราะการพัฒนาคุณภาพการสอนในมหาวิทยาลัย เป็นหัวใจสำคัญในการผลิตและพัฒนาผู้เรียนที่มีคุณภาพ อีกทั้งเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการขยับสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ
สรุปแนวคิดหลักสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ควรศึกษาแนวทางที่เป็นไปได้และความเป็นไปได้ในการพัฒนาคุณภาพการสอนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก การพัฒนามาตรการดำเนินการทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีการประเมินและประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การกำหนดมาตรการพัฒนาคุณภาพการสอนเป็นชุดมาตรการที่ทำร่วมกัน โดยไม่ได้ผลักภาระให้คณาจารย์เป็นผู้ดำเนินการหลักเท่านั้น การสร้างและพัฒนาระบบการประเมินผลคุณภาพการเรียนการสอนที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม รวมถึงการช่วยเหลือนักศึกษาที่เรียนตามไม่ทัน เป็นต้น อันจะมีส่วนในการช่วยรักษาคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถให้อยู่ในระบบ สร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัย และสามารถผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพสู่สังคมไทย
ศ.ดร เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
เห็นด้วยครับ คุณภาพการสอนต้องดี
ReplyDeleteสำหรับประเทศไทยคงต้องดูแลคุณภาพชีวิตครูอาจารย์ควบคู่ไปด้วย
ReplyDeleteปัจจุบันก็เห็นว่า สถาบันการศึกษาก็ริเริ่ม ปรับปรุงการเรียนการสอนกับบ้างแล้วละคะ
ReplyDeleteหากเรามีมหาลัยที่สุดยอดแบบ harvard จะสุดยอดมาก ๆ เลยคะ
ReplyDelete