Wednesday, October 20, 2010

Kriengsak Chareonwongsak : all-RE.......ation

Kriengsak Chareonwongsak : ประเทศไทยต้อง “ปฏิวัฒน์”

“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะ ประชาชนและประเทศชาติก็พ่ายแพ้อยู่ดี”


ผมวิเคราะห์และชี้ให้เห็นบทสรุปต่ออนาคตสถานการณ์บ้านเมือง ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะ ประชาชนและประเทศชาติย่อมพ่ายแพ้อยู่ดี เพราะอนาคตของประเทศไทยในเวลานี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชัยชนะของฝ่ายใด กลุ่มใด แต่ขึ้นอยู่กับการวางรากฐานประเทศเพื่อ “อนาคต” ….วันนี้เราเตรียมพร้อมแล้วหรือยัง?

เราจำเป็นต้องก้าวข้ามความขัดแย้งในเวลานี้ และมองให้ไกล เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ เป็นเพียงการแย่งชิงพื้นที่ของ “ขั้วอำนาจ 2 ขั้ว” โดยใช้มวลชนเป็นฐานยึดโยงอำนาจ ไม่ว่าฝ่ายใดได้อำนาจบริหารประเทศ ประเทศไทยจะเข้าสู่วงจรเดิม ขับเคลื่อนประเทศแบบ “นักการเมือง” ไม่ใช่ “นักสร้างเมือง” ไม่ได้มองเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ หรือมวลชนโดยรวมในระยะ เช่นเดียวกับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา

ผมได้นำเอาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ Production Function มาวิเคราะห์ประวัติศาสตร์โลกมนุษย์ ตั้งแต่ยุคบรรพกาล มาจนถึงปัจจุบันและอนาคต พบว่า สังคมต่าง ๆ มีทั้งผู้ชนะ-ผู้แพ้ มีประเทศที่ชนะเป็นมหาอำนาจ และประเทศที่แพ้ โดยวิเคราะห์เป็นคลื่นแต่ละยุค ได้บทสรุปสำคัญคือ ใครขี่ยอดคลื่นมาก่อนเป็นผู้ชนะ ใครขี่ยอดคลื่นไม่ได้เป็นผู้แพ้

เริ่มต้นจากคลื่นลูกที่ 0 สังคมเร่ร่อน ผู้ชนะคือ ผู้ที่ล่าสัตว์เก่ง ได้เป็นผู้นำแห่งยุค ถัดมาคลื่นลูกที่ 1 สังคมการเกษตร ผู้ชนะคือ นักรบ ใครรบเก่ง รุกรานขยายดินแดนได้มากกว่า ได้เป็นผู้นำแห่งยุค จากนั้นคลื่นลูกที่ 2 สังคมอุตสาหกรรม ยุคแรกอังกฤษขี่ยอดคลื่นมาก่อน เพราะเป็นผู้นำการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีอิทธิพลในโลกอย่างมาก จากนั้นประเทศที่มีทุนมากกว่ากลายเป็นประเทศมหาอำนาจ บรรดานายทุน ได้เป็นผู้นำประเทศ ต่อมาโลกพัฒนาเข้าสู่คลื่นลูกที่ 3 คือ สังคมข้อมูลข่าวสาร ผู้ที่มีความสามารถในการจัดการข้อมูลก่อนได้เป็นผู้นำแห่งยุค เช่น บิลล์ เกตส์ และประเทศที่ขี่ยอดคลื่นลูกที่สามได้ก่อน กลายเป็นประเทศผู้ชนะ อยู่แนวหน้าของโลก

ขณะนี้ โลกมาถึงคลื่นลูกที่ 4 คือ สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง มีการวิจัยและพัฒนาในกระบวนการผลิตมาก เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ กำลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำแห่งยุค มีการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมเกิดขึ้นอย่างมากมาย

ในเวลานี้ ประเทศไทยเลือกได้สองอย่าง คือ ชนะ หรือ แพ้

ถ้าเรายังเดินไปเช่นในปัจจุบันนี้ เราจะถอยหลังไปเรื่อย ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เรากับญี่ปุ่นพัฒนาใกล้เคียงกัน ไม่นานนักญี่ปุ่นก็แซงหน้าเราไป จากนั้น สมัยสงครามเกาหลี เกาหลียากจนข้นแค้นกว่าเรา เพียงประมาณสองทศวรรษกลับก้าวหน้าทิ้งห่างเราไกล เราถอยลงมาเรื่อย ๆ แข่งกับไต้หวัน แข่งกับสิงคโปร์ แข่งกับมาเลเซีย ประเทศเหล่านี้ ไปไกลกว่าเรามากนัก วันนี้เวียดนามแทบไม่ต้องแข่งกับเราแล้ว เพราะเห็น ๆ อยู่ว่าเราแพ้ คู่แข่งขันต่อไปคงเป็นกัมพูชา และลาวในที่สุด

หากประเทศไทยต้องการที่จะพัฒนาไปข้างหน้าและได้ประโยชน์จากกระแสของโลก จำเป็นต้องก้าวไปขี่ยอดคลื่นลูกที่ 4 นำประเทศเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ ด้วยการ “ปฏิวัฒน์ประเทศ” อย่างเร่งด่วน

ปฏิวัฒน์ประเทศ เป็นศัพท์ที่ผมได้บัญญัติขึ้น โดยให้นิยามไว้ว่า หมายถึง การทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาใหม่ อย่างยั่งยืนและครบถ้วนทุกด้าน

การปฏิวัฒน์ประเทศเป็นการวางรากฐานประเทศครั้งใหญ่ ทั้งระบบ ทั้งประเทศ ทุกเรื่อง ทุกมิติ เช่น การศึกษา สาธารณสุข อาชีพ ความยากจน ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะ น้ำเน่า ฯลฯโดยมีองค์ประกอบ ดังนี้

กำหนดกระบวนทัศน์การสร้างชาติ เพื่อนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ นั่นคือ การนำประเทศไปสู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ เป้าหมายต้องครบทุกด้าน อันได้แก่ เศรษฐกิจมั่งคั่งและยั่งยืน การเมืองมีเสรีภาพและเสถียรภาพ สังคมสมานฉันท์และหลากหลาย โดยจะต้องมีอุดมการณ์แห่งชาติ วิสัยทัศน์แห่งชาติ นโยบายแห่งชาติ วาระแห่งชาติ เพื่อผลประโยชน์ของทุกคนในชาติ ทุกคนในชาติรับรู้ร่วมกัน มองเห็นภาพชัดว่าประเทศไทยกำลังไปในทิศทางใด เพื่อบรรลุเป้าหมายใด เช่น กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศ ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ในปี 2030 ประเทศไทยไม่มีคนจน ยกเว้นสมัครใจ ประเทศไทยเป็นที่หนึ่งด้านพลังงานทดแทน ระบบราชการมีประสิทธิภาพติด 1 ใน 10 ของโลก คนรุ่นใหม่สื่อสารได้ 3 ภาษา ประเทศไทยติด 1 ใน 20 ประเทศที่จดสิทธิบัตรมากที่สุดในโลก เป็นต้น

ใช้หลัก “4 ปฏิ” ในการปฏิวัฒน์ประเทศ โดยจัดประเทศไทยเป็น 4 กระบุง กระบุงที่หนึ่ง เรียกว่า ปฏิสังขรณ์ หมายถึง สิ่งที่ยังพอใช้ได้ ให้ซ่อมแซมทําให้กลับคืนใช้ได้เหมือนเดิม กระบุงที่สอง เรียกว่า ปฏิรังสรรค์ หมายถึง สิ่งใดที่องค์ประกอบต่าง ๆ มันยังดีอยู่ แต่ต่อกันผิด ให้นำมาต่อใหม่ให้มันถูก กระบุงที่สาม เรียกว่า ปฏิรูป หมายถึง สิ่งที่หลักการยังดีอยู่ แต่รูปแบบผิด วิธีแก้คือเปลี่ยนรูปแบบให้ตรงกับหลัก เพื่อให้ใช้การได้ เช่น เราจำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการรอบใหม่ และกระบุงที่สี่ การปฏิวัติ การปฏิวัติไม่ใช่รัฐประหาร แต่หมายถึง การเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคน เช่นในยุคหน้า เราอาจจำเป็นต้องปฏิวัติการศึกษา

วันนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในทางแพร่ง เราในฐานะประชาชน คงต้องถามตัวเองว่า เราอยากเป็นพลเมืองของประเทศที่ชนะหรือพ่ายแพ้ ถ้าอยากเป็นผู้ชนะ เราต้องผลักดันให้เกิดการปฏิวัฒน์ประเทศ เราต้องการคนมาวางรากฐานประเทศแบบมีวิสัยทัศน์เหมือนสมัยรัชกาลที่ห้า เพื่อก้าวสู่สังคมคลื่นลูกที่สี่ให้เร็วที่สุด

No comments:

Post a Comment