ศ.ดร เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ช่วงปี ค.ศ.2009 ที่ผ่านมา กองทุน Harvard Allston Partnership Fund ได้เปิดรับสมัครทั้งหมด 2 รอบ ซึ่งรอบแรกได้มีการประกาศผลไปแล้วเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2009 ที่ผ่านมา มีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรท้องถิ่นที่ได้รับคัดเลือกทั้งหมด 6 องค์กร ในบทความนี้จึงขอยกตัวอย่างโครงการที่ได้รับการคัดเลือกบางส่วน เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับมหาวิทยาลัยไทยในการนำไปประยุกต์ใช้ ได้แก่
- โครงการ Allston Brighton Arts Bridge เป็นโครงการใหม่ที่จัดขึ้น เพื่อให้ความรู้กับเยาวชนในบริเวณพื้นที่ออลสตันและไบรท์ตัน เป็นการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนของพวกเขา ผ่านทางการแสดงผลงานศิลปะด้วยสื่อแบบดั้งเดิมและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุน Harvard Allston Partnership Fund เป็นจำนวนทั้งสิ้น 20,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อใช้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการที่เรียกว่า My Allston/Brighton ให้กับกลุ่มเยาวชนจำนวน 15 คน โดยมีผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ นักแสดง นักดนตรีที่มากความสามารถ ตลอดจนนักศึกษาฮาร์วาร์ดทั้งหมดจาก Graduate School of Education Arts in Education program มาร่วมให้ความรู้ ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้เรียนรู้ถึงวิธีการผลิตผลงานศิลปะที่เกี่ยวกับชุมชนของพวกเขา และผลงานดังกล่าวจะถูกเผยแพร่ให้กับสาธารณะชนต่อไป
- โครงการ Allston/Brighton Baby เป็นโครงการแจกผ้าอ้อมและประสานงานแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าเด็กทารกและของเล่น ให้แก่ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ออลสตันและไบรท์ตัน ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุน Harvard Allston Partnership Fund เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อใช้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอ้อมให้กับครอบครัวที่มีเด็กทารกทั้งหมดประมาณ 90 ครอบครัว ซึ่งใช้บริการดังกล่าวนี้ในแต่ละเดือน โครงการ Allston/Brighton Baby มีเป้าหมายหลักเพื่อกระตุ้นให้คนในชุมชนเกิดสำนึกร่วมแห่งความเป็นชุมชน โดยผ่านทางการสร้างพื้นที่ให้แต่ละครอบครัวได้มีส่วนในการช่วยเหลือกันและกัน
- โครงการ The Fishing Academy (TFA) กองทุน Harvard Allston Partnership Fund ได้ให้เงินทุนสนับสนุนจำนวน 20,000 เหรียญสหรัฐฯ กับองค์กร TFA องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กจรจัด ปัญหายาเสพติด และปัญหาความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นกับกลุ่มเยาวชน โดยการจัดกิจกรรมให้คำปรึกษาและสอนวิธีตกปลาให้กับกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ เพื่อให้พวกเขาได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเงินทุนสนับสนุนที่ได้รับดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดกิจกรรมภาคฤดูร้อน การท่องเที่ยวสุดสัปดาห์และกิจกรรมอื่นขององค์กรในช่วงปีที่ผ่านมา กิจกรรมที่จัดขึ้น ช่วยเปิดโอกาสและโลกทัศน์ใหม่ในการใช้ชีวิตอย่างสมคุณค่ามีความสุขให้เยาวชนที่เข้าร่วมมากกว่า 400 คน
ประยุกต์สู่ประเทศไทย บทบาทมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาชุมชน เป็นประเด็นที่ไม่เพียงแต่จะมีส่วนช่วยคนในชุมชน แต่ยังจะมีส่วนในการพัฒนาบุคลากร นักศึกษา และคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยด้านการมีจิตสาธารณะ และเป็นตัวแบบสำคัญให้สังคมในการพัฒนาส่วนรวม ซึ่งการสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนมีหลายรูปแบบ อาจเป็นการจับมือร่วมกับเมืองดังที่ฮาร์วาร์ดทำ หรือเป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นเองหรือร่วมมือกับภาคีอื่น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ลักษณะหลักของการสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ผมเสนอไว้ 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
- กำหนดกิจกรรมที่สอดรับความต้องการและพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย การจัดกิจกรรมหรือโครงการความร่วมมือใด ๆ จำเป็นต้องเริ่มจากการสำรวจความต้องการ และความจำเป็นของชุมชน รวมถึงการศึกษาเชิงพฤติกรรมของกลุ่มคนในชุมชนนั้น เพื่อนำมาประกอบการจัดกิจกรรมได้ตามวัตถุประสงค์ เช่น การจัดกิจกรรมสำหรับวัยรุ่นที่เป็นแม่ลูกอ่อน ต้องมีการศึกษาเชิงพฤติกรรมและความต้องการของคนกลุ่มนี้ที่ชัดเจน เพื่อสามารถจัดกิจกรรมได้สอดคล้องความต้องการและได้รับความร่วมมือจากกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี
- ช่วยให้ชุมชนช่วยเหลือตนเองได้ ผมพูดเสมอว่า “พยายามสอนคนให้จับปลาเป็น ไม่ใช่ยื่นปลาให้เขากิน” เพื่อในอนาคตเขาจะได้สามารถหาเลี้ยงปากท้อง หรือดูแลตนเองได้ ดังนั้นกิจกรรมบางอย่างควรเป็นกิจกรรมสนับสนุนการช่วยเหลือตนเองของชุมชน เช่น อาจเป็นกิจกรรมการฝึกอาชีพ การพัฒนาผู้เลี้ยงเด็กหรือดูแลผู้สูงอายุในชุมชน การให้การศึกษาหรือเรียนรู้ เป็นต้น
- พัฒนาเครือข่ายความร่วมมืออย่างเป็นระบบ ที่ผ่านมาเครือข่ายความร่วมมือต่าง ๆ มักล่มในเวลาอันสั้น หรือไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เนื่องด้วยการขาดการให้ความสำคัญและการวางระบบการจัดการเครือข่าย ทั้งด้านการจัดตั้งเครือข่าย การบริหารจัดการเครือข่าย และการธำรงเครือข่าย สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือที่ผมเขียนไว้ ชื่อ “การจัดการเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา” เป็นการสรุปแนวคิดและแนวทางพัฒนาเครือข่ายอย่างมีหลักการ และเป็นระบบ จึงจะสามารถพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคส่วนมหาวิทยาลัยกับชุมชนได้อย่างเกิดผลและยั่งยืน
- เป็นสะพานเชื่อมภาคีอื่นเข้าร่วม มหาวิทยาลัยควรเป็นแกนนำในการเชื่อมภาคีอื่นเข้าร่วมพัฒนาชุมชน เนื่องด้วยมหาวิทยาลัย มีศักยภาพทั้งด้านความน่าเชื่อถือ องค์ความรู้ เครือข่ายเทคโนโลยี การมีคณาจารย์ นักศึกษา หรือบุคลากรที่จะมาเป็นอาสาสมัคร ที่จะเป็นจุดเชื่อมหรือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการนำภาคีอื่นมีส่วนร่วมจากภาคีต่าง ๆ ในสังคมที่อยู่ร่วมกัน ในการช่วยผู้ด้อยโอกาสกว่า อันเป็นการพัฒนาทั้งชุมชนและสังคมสู่ความยั่งยืน
No comments:
Post a Comment