Kriengsak Chareonwongsak :ไทยต้องเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจสร้างสรรค์
เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของผมในงานสัมมนาที่จัดโดยมหาวิทยาลัยเกริก เรื่อง “ยุคสังคมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์: ความฝันหรือความจริงแห่งอนาคต” ซึ่งนอกจากผมแล้วยังมีวิทยากรหลายท่านได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ซึ่งปัจจุบันเป็นนโยบายที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นไว้อย่างน่าสนใจ
โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการจะเข้าใจทิศทางของประเทศว่าควรจะเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือไม่นั้นต้องเข้าใจพัฒนาการทางสังคมโดยรวมเสียก่อน ซึ่งผมได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในหลายโอกาสว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของโลกนั้นมีลักษณะเป็น “คลื่น 7 ลูก” เริ่มต้นจากคลื่นลูกที่ 0 คือ สังคมเร่ร่อน ทักษะสำคัญในยุคนี้ คือ การล่าสัตว์ ดังนั้นผู้ที่ล่าสัตว์เก่งจึงได้เป็นผู้นำแห่งยุค ถัดมาคลื่นลูกที่ 1 คือ สังคมการเกษตร ซึ่งคนเริ่มตั้งรกราก ปัจจัยที่สำคัญในยุคนั้น คือ ที่ดิน ทำให้ผู้ที่มีความสามารถในการรบเพื่อขยายเขตแดน ได้เป็นผู้นำแห่งยุค จากนั้นคลื่นลูกที่ 2 คือ สังคมอุตสาหกรรม ซึ่งเริ่มจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ ทำให้อังกฤษมีอิทธิพลในโลกอย่างมาก เนื่องจาก มีทักษะที่จำเป็นมากกว่าใครนั่นคือ ความสามารถในการผลิต การค้า และการลงทุน ต่อมาโลกพัฒนาเข้าสู่คลื่นลูกที่ 3 คือ สังคมข้อมูลข่าวสาร ซึ่งข้อมูลข่าวสารมีความซับซ้อนขึ้น ทำให้ผู้ที่มีความสามารถในการจัดการข้อมูลจึงได้เป็นผู้นำแห่งยุค (เช่น บิลล์ เกตส์) ปัจจุบันโลกมาถึงคลื่นลูกที่ 4 คือ สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ ทำให้ประเทศที่สามารถใช้ความรู้ในการผลิต มีนวัตกรรม มีการวิจัยและพัฒนาในกระบวนการผลิตมาก ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าประเทศอย่างสหรัฐ ได้เป็นผู้นำแห่งยุค เนื่องจาก มีการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมเกิดขึ้นอย่างมากมาย อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐนั้นมีมูลค่าสูงถึง 5 – 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์สูงถึง ร้อยละ 50
ในขณะที่โลกพัฒนามาถึงคลื่นลูกที่ 4 แต่ประเทศไทยเองยังอยู่ในช่วงคลื่นลูกที่ 1 ลูกที่ 2 และ คลื่นลูกที่ 3 ผสมผสานกัน เกิดการต่อสู้และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนเก่า (คลื่นลูกที่ 2) กับ กลุ่มทุนใหม่ที่มาจากสายโทรคมนาคม (คลื่นลูกที่ 3) ซึ่งมีความสามารถในการบริหารจัดการข้อมูลมากกว่า ดังนั้นหากประเทศไทยต้องการที่จะพัฒนาไปข้างหน้าและได้ประโยชน์จากกระแสของโลก รัฐบาลต้องพยายามขี่ยอดคลื่นลูกที่ 4 หรือพัฒนาประเทศให้เป็นสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ เพียงเป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เท่านั้น
เศรษฐกิจฐานความรู้ แตกต่างจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เนื่องจาก ความรู้เกิดจากความสามารถในการคิด ซึ่งการคิดให้ได้ความรู้อย่างครบถ้วนนั้น ต้องอาศัยการคิด 10 มิติ ซึ่งผมได้เขียนเป็นหนังสือเอาไว้แล้ว การคิดสร้างสรรค์เป็นเพียงการคิดมุมหนึ่งใน 10 มิติเท่านั้น ยังขาดอีก 9 มิติ การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้เท่านั้น ซึ่งภาครัฐไม่ควรละเลยมิติอื่นๆ ในการคิดเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยบนพื้นฐานของความรู้ด้วย ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าประเทศไทยควรตั้งเป้าหมายในการพัฒนาตัวเองเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้มากกว่า
สถานการณ์ปัจจุบันจำนวนการจดสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาหรือจำนวนการตีพิมพ์งานวิชาการในวารสารรวมทั้งสิ่งใหม่ที่เกิดจากการคิดเองของคนไทยโดยไม่ลอกเลียนต่างชาตินั้นมีน้อยมาก การจะผลักดันประเทศไทยให้เป็นเศรษฐกิจฐานความรู้นั้นถือเป็นงานหนักของรัฐบาลที่ต้องอาศัยการปฏิรูปอย่างรอบด้าน เช่น
ปฏิรูปคน คนไทยจำนวนมากคิดไม่เป็น เนื่องจาก ขาดประสบการณ์ และไม่ได้ฝึกฝนการใช้ความคิดมากนัก เนื่องจาก ระบบการศึกษาไม่มีคุณภาพ การเรียนและการทำงานส่งนั้นอาศัยการท่องจำและการตัดแปะ ซึ่งในอนาคตจะทำให้ปริญญา นั้นไร้คุณค่าลงไป คนที่มีปริญญาและไม่มีปริญญาจะไม่ต่างกันมาก นอกจากคิดไม่เป็นแล้วคนไทยยังมีค่านิยมหลายประการที่เป็นอุปสรรค เช่น ความรักสบาย ทำให้ชอบลอกเลียนแบบมากกว่าที่จะคิดเอง เป็นต้น ดังนั้นรัฐต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูปคนอย่างจริงจัง
ปฏิรูประบบ ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องระบบองค์ความรู้อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องฐานข้อมูลที่นิยามไม่ตรงกัน ไม่ครบถ้วน มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบและค่อนข้างจะต่างคนต่างทำ โดยไม่เชื่อมโยงกัน นอกจากนี้แล้วสิ่งสำคัญ คือ ประเทศไทยขาดระบบการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ เห็นได้จากงบประมาณในด้านการวิจัยและพัฒนาต่อจีดีพีที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศอื่น เป็นต้น หากเราไม่ปฏิรูปเรื่องนี้จะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถที่จะสร้างสรรค์หรือสร้างความรู้ได้มากนัก เนื่องจาก การขาดองค์ความรู้
ปฏิรูปบริบท สังคมไทยมีลักษณะหลายประการที่ไม่สนับสนุนให้เกิดการสร้างความรู้และทำให้คน
ใช้ความคิดมากนัก เช่น สังคมอาวุโส ที่เน้นการเชื่อฟังมากกว่าความเข้าใจ หรือ สังคมที่ไม่ยอมรับความแตกต่าง ไม่อนุญาตให้คนเป็นแกะดำ หรือคิดต่าง เพราะจะมีการให้ร้ายหรือก่อให้เกิดความไม่พอใจ ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องสงบเสงี่ยมอยู่ในกรอบอนุรักษ์นิยม เป็นต้น ลักษณะสังคมเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปจากภาครัฐโดยเร่งด่วนเช่นเดียวกัน
ผมเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถแข่งขันและเอาตัวรอดได้ในระยะยาวท่ามกลางการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น หากรัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความรู้ ไม่ใช่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เป็นเพียงกระแสนิยมเท่านั้น
No comments:
Post a Comment