Wednesday, October 20, 2010

Kriengsak Chareonwongsak : Siamaraya define

Kriengsak Chareonwongsak : นิยามสยามอารยะ

“สยามอารยะ” เกิดมาจากการนำคำที่มีความหมายในเชิงนัย 2 คำมารวมกัน ได้แก่ คำว่า สยามกับคำว่า อารยะ


สยามเป็นชื่อเรียกดินแดนและกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ ไม่ใช่ชื่อชนชาติและไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์ใดหรือเผ่าพันธุ์ใดโดยเฉพาะ[1]ชื่อ สยาม ได้เป็นชื่อประเทศอย่างเป็นทางการ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น "ไทย" เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม อย่างไรก็ตาม ชื่อ สยาม ยังคงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ คนไทยเราคุ้นเคยกับคำว่า “สยาม” มาเป็นระยะเวลายาวนาน จวบจนกระทั่งปัจจุบันคำว่า “สยาม” ก็ยังคงอยู่ในมโนสำนึกของคนไทย และเป็นคำที่ยังคงใช้กันอยู่ทั่วไปในสังคม

สยามเป็นดินแดนที่ตั้งของอารยธรรมของชนชาติต่าง ๆ มาเป็นเวลายาวนาน สามารถศึกษาประวัติศาสตร์ย้อนขึ้นไปตามลำดับจากอยุธยาไปสู่ละโว้, พิมาย, สุโขทัย, โยนก, ศรีธรรมราช, ไชยาหรือศรีวิชัย, จานาศปุระ, ทวารวดี, พนมหรือฝูหนาน ฯลฯ และตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานจวบจนปัจจุบัน ดินแดนสยามยังคงมีความหลากหลาย ทั้งมิติด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม แต่ยังสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ยอมรับและให้เกียรติซึ่งกันและกัน มีความสมานฉันท์ ซึ่งสังคมที่มีลักษณะเช่นนี้เรียกได้ว่าเป็นสังคมที่มีความงดงามโดยแท้

การใช้คำว่า สยาม จึงเป็นความตั้งใจที่จะสื่อสาร “เอกภาพแห่งดินแดน” ที่รวมความหลากหลายของชนหลายเชื้อชาติ หลากเผ่าพันธุ์ ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน โดยไม่แบ่งแยกหรือสะท้อนอัตลักษณ์ของชนเพียงบางกลุ่ม และเพื่อสะท้อนความตั้งใจของสมัชชาสยามอารยะ ที่ต้องการสร้างสังคมไทยให้เป็น “สังคมพหุเอกานิยม” สามารถธำรงเอกภาพท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย

อารยะคำว่า “อารยะ” ในที่นี้ให้ความหมายถึง ความเจริญเติบโต งอกงามที่มีความสมดุลครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งมิติทางด้านวัตถุ ความอยู่ดีกินดี มิติทางด้านจิตใจ และมิติทางด้านคุณธรรมโดยคำนึงถึงทั้งผลที่จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาว และการดูแลปัญหาความจำเป็นเร่งด่วนในระยะสั้น

คำว่า อารยะ ที่กำหนดไว้ใน สยามอารยะ จะให้ความหมายที่แตกต่างจากความหมายที่กำหนดไว้ในพจนานุกรม ซึ่งหมายถึง ความเจริญ งอกงาม โดยมาจากคำว่า civilize ในภาษาอังกฤษ หมายถึง ความเจริญก้าวหน้าที่มนุษย์ได้กระทำขึ้นในด้านต่าง ๆ อาทิ การปกครองศิลปะสถาปัตยกรรม อักษรและการใช้ตัวอักษรความรู้และเทคโนโลยี แต่ทั้งนี้ มักให้ความสำคัญด้านวัตถุมากกว่าจิตใจหรือคุณธรรม สังคมที่มีอารยะย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนอยู่อีกทั้ง เมื่อพิจารณาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า civilis ซึ่งแปลว่าพลเมือง แต่ "พลเมือง" ในสมัยโรมัน หมายถึงคนเมืองเท่านั้น ไม่นับคนชนบท อันอาจเป็นเหตุให้เกิดวิถีคิดแบบครอบงำ โดยคนเมืองที่เจริญแล้วชี้นำหรือดูถูกคนกลุ่มอื่น ๆ ว่าด้อยกว่า หรือเป็นพวกอนารยะ

ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการตีความดังกล่าว อารยะในที่นี้ จึงได้ให้นิยามไว้ว่า ความเจริญเติบโต งอกงามที่มีความสมดุลครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งมิติทางด้านวัตถุ ความอยู่ดีกินดี มิติทางด้านจิตใจ และมิติทางด้านคุณธรรม

--------------------------------------------------------------------------------

[1] จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายไว้ในหนังสือความเป็นมาของคำสยาม ว่าสยามเป็นชื่อดินแดนและกลุ่มชนไม่จำกัดเผ่าพันธุ์หนึ่งใด แต่ไม่ใช่ชื่อชนชาติและไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์ใดหรือเผ่าพันธุ์ใดโดยเฉพาะ หากเป็นชื่อพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งหรือบริเวณใดบริเวณหนึ่ง มีรากจากคำพื้นเมืองดั้งเดิมว่าซัม ซำ หรือสาม หมายถึงบริเวณที่มีน้ำซับน้ำซึมเป็นตาน้ำพุน้ำผุดโผล่ขึ้นจากแอ่งดินอ่อนหรือดินโคลน แล้วเรียกคนจะเป็นชาติพันธุ์อะไรก็ได้ที่มีหลักแหล่งทำมาหากินบริเวณนี้ว่าชาวสยามทั้งนั้น

สยามเป็นชื่อดินแดนและกลุ่มชนไม่จำกัดชาติพันธุ์ ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าสยามเป็น "พวกร้อยพ่อพันแม่"คือ มิได้หมายถึงชนชาติใดชนชาติหนึ่ง แต่อาศัยลักษณะภายนอกเป็นตัวกำหนด เช่น ใช้เรียกผู้ทำมาหากินกันในบริเวณตาน้ำพุที่ผุดจากแอ่งดินอ่อนหรือดินโคลนหรืออาจใช้เรียกผู้ที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำโขง

ชาวสยามหรือเสียมเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ต่ำกว่าเส้นละติจูด 19° เหนือลงมา เป็นการผสมผสานของกลุ่มชนต่าง ๆ ที่ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารนายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เขียน "คนไทย มาจากไหน" จึงเสนอให้เรียกผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันว่า "ชาวไทยสยาม" แทน เพราะคำว่า "ชาวไทย" มีความหมายครอบคลุมถึง "ชาวไทยใหญ่" และ "ชาวไทยน้อย" ซึ่งอาศัยอยู่นอกประเทศไทยด้วย

สังคมที่มีความเจริญทางด้านวัตถุเพียงอย่างเดียวไม่ถือว่าเป็นสังคมที่มีอารยะอย่างแท้จริงตามความหมายนี้ แต่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบด้านจิตใจ และคุณธรรมด้วย โดยให้ความสำคัญที่คนเป็นหลัก

ท้ายที่สุดเมื่อนำทั้ง 2 คำมารวมกันเป็นคำว่า “สยามอารยะ”จึงให้ความหมายถึง การพัฒนาประเทศให้เกิดความเจริญงอกงามอย่างสมดุลและยั่งยืนในทุกด้านทั้งทางด้านวัตถุ จิตใจ และคุณธรรมภายใต้สังคมพหุเอกานิยม ที่มีเอกภาพในความแตกต่างหลากหลายคนทุกกลุ่มได้รับโอกาสเท่าเทียมกัน ทุกคนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่มีใครถูกทอดทิ้ง และไม่มีใครยากจนยกเว้นสมัครใจ เพื่อนำประเทศสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน

No comments:

Post a Comment