Thursday, September 30, 2010

Kriengsak Chareonwongsak : renovate the public park in Harvard

Kriengsak Chareonwongsak :ฮาร์วาร์ดพัฒนาสวนสาธารณะแหล่งเรียนรู้ที่ชุมชนมีส่วนร่วม

ในช่วงที่ผ่านมา ฮาร์วาร์ดได้ร่วมมือกับชุมชนเขตออลสตันและเมืองบอสตันวางแผนสร้างสวนสาธารณะแห่งใหม่ เพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ละแวกใกล้เคียง โดยสวนสาธารณะดังกล่าวนี้จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างบริเวณด้านหลัง Honan - Allston Branch ของห้องสมุดประชาชนเมืองบอสตัน ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดถึง 1.74 เอเคอร์ เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงให้กลายเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ที่มีความเงียบสงบ มีความเขียวขจี และเต็มไปด้วยต้นไม้ผลัดใบพันธ์พื้นเมืองหลากหลายชนิด ลักษณะเด่นของสวนสาธารณะแห่งนี้คือ


เป็นสวนสาธารณะที่เกิดมาจากการมีส่วนร่วมของชุมชนเขตออลสตันและเมืองบอสตัน โดยการเปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยในบริเวณละแวกใกล้เคียงหลาย 100 ชีวิต ได้เข้ามามีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นโดยตรงเกี่ยวกับการสร้างสวนสาธารณะดังกล่าวกับกลุ่มผู้วางแผนของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ในช่วงการศึกษาภาคฤดูร้อนที่ผ่านมา หลังจากนั้นฮาร์วาร์ดจึงจัดให้มีการประชุมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อพัฒนากรอบความคิดร่วมกันกับชุมชนอีกเป็นระยะ ๆ มากกว่า 12 ครั้ง รวมทั้ง ยังร่วมมือกับเมืองบอสตันผลักดันให้มีการดำเนินโครงการวางแผนแบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้อยู่อาศัยที่ต้องการเข้ามาแสดงความคิดเห็น ให้คำแนะนำ หรือแบ่งปันประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวนี้อีกด้วย

เป็นสวนสาธารณ์ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยออกแบบให้มีพื้นที่สีเขียวที่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมทางด้านการศึกษา และการทำกิจกรรมพิเศษของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบให้มีพื้นที่เป็นชั้น ๆ สำหรับใช้อ่านหนังสือ หรือใช้ทำเป็นห้องเรียนขนาดเล็ก การออกแบบให้มีสนามหญ้าเป็นรูปวงรี เพื่อให้ชุมชนใช้ทำกิจกรรมหรือมาปิกนิก การปลูกต้นไม้ผลัดใบพันธ์พื้นเมืองหลากหลายชนิด เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ และการออกแบบสถานที่ให้มีบรรยากาศเงียบสงบปราศจากเสียงรบกวน แตกต่างจากสวนสาธารณะอื่น ๆ อาทิ สวนสาธารณะสมิธพาร์คที่ประชาชนมักนิยมมาเล่นบาสเกตบอล หรือสวนสาธารณะริงเกอร์และพอร์ทสมัธที่มีเด็กเล็ก ๆ มากมาย
สวนสาธารณะใหม่แห่งนี้ คาดว่าจะได้รับการออกแบบให้เสร็จสมบูรณ์ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า อีกทั้งจะสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการภายในปี ค.ศ. 2011 ที่จะถึงนี้

ประยุกต์สู่ประเทศไทย

แนวคิดที่ผมเคยเสนอไว้เกี่ยวกับการสร้างกรุงเทพฯ ด้วยปัญญาและในหนังสือ “กรุงเทพที่ผมฝัน” คือ การทำให้กรุงเทพฯเป็น “เมืองมรกต” ลดมลพิษ ยืดชีวิตคนเมือง หรือเมืองที่เต็มไปด้วยความร่มรื่นและสดชื่นของต้นไม้ เป็นเมืองที่ทุกคนมีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติและได้รับการปลดปล่อยจากความเครียดในการดำรงชีวิต กทม.จำเป็นต้องรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ในทุก ๆ พื้นที่ที่มีพื้นที่ว่าง

ปลูกป่าในเมือง เพิ่มเครื่องฟอกอากาศ กทม. อาจตั้งเป้าหมายให้แต่ละเขตเพิ่มปริมาณต้นไม้ใหญ่ให้ได้ 100 เท่าของปริมาณที่มีอยู่ แต่ละเขตรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยกันปลูกต้นไม้ทุก ๆ ตารางนิ้วที่สามารถปลูกได้ เช่น บริเวณบ้าน พื้นที่รกร้าง หน่วยงานราชการ โรงเรียน บริษัท ห้างสรรพสินค้า ที่มีพื้นที่ว่างพอที่จะปลูกต้นไม้ได้ เป็นต้น โดยสนับสนุนในเรื่องของพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่นั้น และจัดกิจกรรมเพื่อให้คนเห็นคุณค่าและมีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ เช่น จัดวันปลูกป่าในเมืองเฉลิมพระเกียรติ จัดโครงการรณรงค์ปลูกต้นไม้คนละ 1 ต้นในชุมชน โดยให้ทำป้ายแขวนชื่อต้นไม้เป็นชื่อของตน แสดงความเป็นเจ้าของ เป็นต้น

สร้างสวนหย่อมลอยฟ้า คลายเครียดชีวิตรังผึ้ง ดาดฟ้าอาคารจำนวนมากเป็นพื้นที่ที่สามารถเอื้อต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจของคนเมืองได้ หากเราส่งเสริมให้เปลี่ยนดาดฟ้าของอาคารที่ไม่ได้ทำประโยชน์ใช้สอยให้กลายเป็น “สวนหย่อมลอยฟ้า” เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และเพื่อเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียวในเขต กทม. ในแนวสูงแนวทางการดำเนินงาน คงต้องให้ทาง กทม.เป็นผู้ริเริ่มเช่นกันในการขอความร่วมมือจากอาคารต่าง ๆ โดยเริ่มจากอาคารของหน่วยงาน กทม. และหน่วยงานภาครัฐก่อน แปลงสภาพดาดฟ้าเป็นสวนหย่อม ถ้าเป็นที่แคบ ๆ อาจออกแบบเป็นสวนหย่อมเพื่อการนั่งเล่นพักผ่อนยามเย็น แต่ถ้าเป็นอาคารที่มีที่กว้างมากเพียงพอ อาจทำให้เป็นสวนธารณะลอยฟ้าแบบครบวงจร อาทิ ให้คนมาออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ มีกิจกรรมต่าง ๆ แอโรบิค โยคะ ฯลฯ ทั้งในช่วงเช้า ช่วงเย็น และในวันหยุด

นอกจากนั้นแล้ว ผมคิดว่ากรุงเทพฯ และหัวเมืองขนาดใหญ่ ควรพัฒนาสวนสาธารณะเป็นแหล่งเรียนรู้และกิจกรรมสร้างสรรค์ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการและผู้ที่อาศัยอยู่รายรอบ โดยมีระบบการจัดการสวนสาธารณะด้วยการเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและทำกิจกรรม เช่น การเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น การให้กลุ่มคนต่าง ๆ มีส่วนร่วมทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ เช่น การเปิดทีโซนฟอร์ทีน (T Zone for Teen) โซนกีฬา ดนตรี ศิลปะและกิจกรรม ในพื้นที่สวนสาธารณะ และเปิดพื้นที่ ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ยามค่ำคืน และส่งเสริมให้ใช้ "เวลาว่างสร้างพรสวรรค์" และสร้าง "ศูนย์นันทนาการครบวงจร" ในพื้นที่สาธารณะ ใครมีกิจกรรมดี ๆ มีการจัดสรรงบของเมืองในการจัดทำ "กิจกรรมสนุกสร้างสรรค์" ได้ เป็นต้น

การเปิดพื้นที่สวนสาธารณะในรูปแบบใหม่ ๆ จะเป็นเพียง “ความฝัน” หรือ จะเป็น “ความจริง” อยู่ที่ผู้นำในส่วนงานสาธารณะนั้น มีวิสัยทัศน์ มองนอกกรอบ มีการวางแผน และวิเคราะห์พิจารณาจุดแกร่งและจุดอ่อนของแต่ละภาคี รวมถึงมีการบริหารจัดการการมีส่วนร่วมหรือทำงานเป็นเครือข่ายอย่างเป็นระบบ จะส่งผลให้การพัฒนาสวนสาธารณะหรือแม้แต่พื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการได้แม้จะมีทรัพยากรจำกัด สอดคล้องกับความต้องการใช้บริการ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย


ศ.ดร เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

No comments:

Post a Comment