Wednesday, October 20, 2010

Kriengsak Chareonwongsak: example of qulified teaching in Harvard 2

Kriengsak Chareonwongsak  ฮาร์วาร์ดกับการพัฒนาคุณภาพผู้สอน (2)


 

 
ศ.ดร เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com


 
ต่อเนื่องจากบทความในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่กล่าวถึง ตัวอย่างบริการเพื่อการพัฒนาคุณภาพการสอนในฮาร์วาร์ดที่ ศูนย์เดเร็ค บ็อก เพื่อการพัฒนาการสอนและการเรียนรู้ (Derek Bok Center for Teaching and Learning) ศูนย์ฯ นี้ ยังมีกิจกรรมช่วยพัฒนาคุณภาพผู้สอนและการสอน ซึ่งมีความน่าสนใจในหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์ใช้วิธีการที่หลากหลาย เพื่อช่วยพัฒนาผู้สอนให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่จำเป็นเกี่ยวกับการสอน อาทิ

 
  • การประเมินผลและให้ประกาศนียบัตรทางด้านการสอน หรือที่เรียกว่า Certificates of Distinction and Derek C. Bok Awards โดยศูนย์ฯ จะใช้แบบประเมินที่เรียกว่า Q evaluation เพื่อประเมินการสอนของคณาจารย์ ผู้ช่วยสอน ผู้บรรยาย และวิทยากรพิเศษที่สอนในแต่ละภาคการศึกษา ซึ่งคณาจารย์ ผู้ช่วยสอน ผู้บรรยาย และวิทยากรพิเศษที่จะได้รับรางวัลดังกล่าวนี้ ทางศูนย์ฯ กำหนดให้จะต้องได้คะแนนการประเมินตั้งแต่ 4.5 ขึ้นไปจากคะแนนเต็มทั้งหมด 5 คะแนน โดยในช่วงสิ้นสุดภาคการศึกษาของแต่ละภาคการศึกษา ศูนย์ฯ จะส่งแบบประเมิน Q evaluation นี้ไปให้นักศึกษากรอกทาง e – mail หลังจากนั้นจึงนำมารวบรวม สรุปผล และให้ประกาศนียบัตรต่อไป
  • การให้เงินรางวัลจำนวน 1,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า Derek C. Bok Award for Excellence in Graduate Student Teaching of Undergraduates โดยศูนย์ฯ จะให้กับผู้ช่วยสอนที่สอนในวิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Graduate School of Arts and Sciences) จำนวน 5 คนเป็นประจำทุกปี ซึ่งแต่ละภาควิชาในวิทยาลัยดังกล่าวนี้ จะเป็นผู้นำเสนอรายชื่อผู้ช่วยสอนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และส่งให้ทางศูนย์ฯ พิจารณาคัดเลือกอีกครั้ง
  • การจัดประชุมสัมมนาอภิปรายแลกเปลี่ยนระหว่างกัน หรือ Christensen discussion seminar ศูนย์ฯ จะจัดให้มีการประชุมสัมมนา 10 สัปดาห์ขึ้นในทุกช่วงฤดูใบไม้ร่วงของทุกปี เพื่อให้คณาจารย์และผู้ช่วยสอนได้มีโอกาสในการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการสอนร่วมกัน ซึ่งการสัมมนาดังกล่าวจะใช้กรณีศึกษาจากชั้นเรียนจริง มีการสำรวจสภาพปัญหาในห้องเรียน การทดสอบปัจจัยที่อาจเป็นอุปสรรคปัญหาเฉพาะหน้า และทางเลือกของอาจารย์ผู้สอนในการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ในแต่ละปีมีอาจารย์ผู้สอนจากหลากหลายสาขาวิชาเข้าร่วมการสัมมนาที่จัดขึ้นนี้กว่า 30 คน
  • การจัดสัมมนาเกี่ยวกับเว็บช่วยสอน โดยมาจากความร่วมมือกันระหว่างศูนย์เดเร็ค บ็อก และกลุ่มเทคโนโลยีทางวิชาการ การสัมมนาที่จัดขึ้นนี้มิได้มีเป้าหมายเพียงแค่การปรับปรุงวิธีการสอนด้วยเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงนวัตกรรมทางด้านศิลปะและวิธีการสอนทั่ว ๆ ไปอีกด้วย เทคโนโลยีถือได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญของนวัตกรรมทางด้านการสอนในปัจจุบัน ซึ่งศูนย์ฯ ค่อนข้างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
  • การประชุมพัฒนาการสอนให้คณาจารย์ใหม่ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้คำแนะนำทางด้านการสอนกับคณาจารย์ใหม่โดยเฉพาะ เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในช่วงฤดูร้อน ปี ค.ศ. 2004 หลังจากนั้นได้จัดให้มีการประชุมแบบหลายวันติดต่อกันในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายนเป็นประจำทุกปี ในแต่ละปีมีคณาจารย์ใหม่ที่สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

 
นักแสดงของศูนย์เดเร็ค บ็อก หรือ Bok Center Players กลุ่มละครใหม่ที่เพิ่งดำเนินการจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2007 ที่ผ่านมา เพื่อเชื่อมโยงการแสดงเข้ากับการอภิปรายถกเถียงกันในประเด็นที่เกี่ยวกับศิลปะและวิธีการสอนที่มีความสลับซับซ้อนและประเด็นทางวิชาการอื่น ๆ สำหรับเป้าหมายสูงสุดของนักแสดงกลุ่มนี้ คือ การทำให้เกิดความเท่าเทียมกันเชิงวิชาการที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ การผลักดันให้เกิดการปรับปรุงในเรื่องคุณภาพการสอน การเรียนรู้ และเป็นห้องปฏิบัติการแห่งประสบการณ์ที่ผู้ชมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง การแสดงของนักแสดงศูนย์เดเร็ค บ็อกนี้จะประกอบไปด้วย 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ การแสดงสั้น ๆ ประมาณ 10 – 20 นาที หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ปฎิสัมพันธ์กับนักแสดงหรือถามคำถาม ตามมาด้วยการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ชมเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเห็นในการแสดงนั้น ๆ สุดท้ายนำเสนอบทบาทสมมติ 1 หรือ 2 ตอนสั้น ๆ จากการแสดง แล้วให้ผู้ชมเสนอพฤติกรรมใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพการสอน

 
ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย

 
ดังข้างต้นจะเห็นได้ว่า ฮาร์วาร์ดได้ประยุกต์ใช้วิธีการที่หลากหลายในการพัฒนาคุณภาพการสอนของคณาจารย์ ซึ่งมหาวิทยาลัยไทยเอง ควรมีระบบการพัฒนาคุณภาพการสอนคณาจารย์ที่หลากหลายและเหมาะสมกับคณาจารย์กลุ่มต่างๆ เช่น คณาจารย์เข้าใหม่ คณาจารย์จากภายนอก และคณาจารย์ประจำ ซึ่งควรมีการจัดทำการสำรวจปัญหาหรือความต้องการของคณาจารย์ในการพัฒนาการสอน การใช้วิธีการให้คณาจารย์หรือนักศึกษาเสนอแนวทางหรือโครงการพัฒนาคุณภาพการสอนของคณาจารย์ การจัดทำโครงการนำร่องในบางคณะหรือบางส่วนของมหาวิทยาลัย การประเมินความเป็นไปได้และผลจากการพัฒนาโครงการ รวมถึงการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการสอนของคณาจารย์ที่มีความน่าเชื่อถือและถูกต้องให้ได้มากที่สุด เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาและดึงศักยภาพคณาจารย์ในระบบ ได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งยังไม่ได้มีส่วนในการพัฒนาคุณภาพคณาจารย์ที่อยู่ในระบบเท่านั้น แต่ยังจะเป็นส่วนดึงดูดคณาจารย์เก่งที่มีความรู้ความสามารถเข้าสู่มหาวิทยาลัยได้ด้วย อันเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มคุณภาพและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย

 

No comments:

Post a Comment