Thursday, October 14, 2010

Kriengsak Chareonwongsak Harvard library Part 2

ปฏิรูประบบห้องสมุดฮาร์วาร์ด

                    ด้วยเหตุนี้ คณะทำงานเฉพาะกิจจึงเสนอให้มีการปฏิรูประบบโครงสร้างการบริหารจัดการและรูปแบบทางการเงินของห้องสมุดใหม่ ใน 5 ประเด็นหลักดังต่อไปนี้
                 
  1. การจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานทางการบริหารจัดการห้องสมุดร่วมกัน เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพและมีความคุ้มทุนมากขึ้น ซึ่งในที่นี้ยังคงยืนอยู่บนพื้นฐานหลักคิดการเป็นผู้นำทางด้านสติปัญญาและความเชี่ยวชาญของห้องสมุดย่อยในแต่ละแห่ง รวมทั้งคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลาย นับได้ว่าเป็นจุดแข็งของระบบห้องสมุด ฮาร์วาร์ดในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม คณะทำงานเฉพาะกิจฯ ได้เสนอให้มีรูปแบบการบริหารจัดการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ระบบการดูแลรักษา และการบริการเชิงเทคนิคอื่น ๆ ร่วมกัน 
  2. การปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ โดยสร้างและปรับปรุงรูปแบบการใช้เทคโนโลยีร่วมกัน ซึ่งระบบเทคโนโลยีหลักของห้องสมุดแต่ละแห่งภายในมหาวิทยาลัย จะต้องได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้การทำงานทางด้านวิชาการร่วมกัน ทั้งระดับภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านรูปแบบการตัดสินใจและระบบการบริหารจัดการทางด้านเงินทุนของห้องสมุดทั้งระบบดังจะกล่าวในหัวข้อถัดไป
  3. การปรับปรุงรูปแบบการบริหารจัดการทางการเงิน ปัจจุบันระบบการบริหารจัดการทางด้านการเงินของห้องสมุดเกี่ยวกับการซื้อวัสดุอุปกรณ์และการให้บริการ ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยจึงควรจัดให้มีการประเมินระบบการบริหารจัดการทางการเงินเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ สถานที่ และการให้บริการของห้องสมุดใหม่ โดยเริ่มต้นจากการประเมินระบบการบริหารจัดการทางด้านการเงินของ Harvard Depository ก่อน การเริ่มต้นปรับปรุงที่สถานที่เก็บวัสดุอุปกรณ์นี้ จะทำให้ได้รูปแบบผลลัพธ์ที่เป็นต้นแบบ ซึ่งอาจขยายสู่ความร่วมมือในลักษณะอื่น ๆ ได้
  4. การบริหารจัดการห้องสมุดภายในฮาร์วาร์ด อย่างเป็นองค์รวม หากห้องสมุดแต่ละแห่งแยกกันจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ แทนที่จะซื้อร่วมกันทั้งมหาวิทยาลัย จะมีผลทำให้ห้องสมุดขาดอำนาจในการต่อรอง จนในที่สุดแล้วจะทำให้ห้องสมุดย่อยแต่ละแห่งเหล่านี้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป เมื่อเทียบกับสัดส่วนของการให้บริการ ขาดประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากรในภาพรวมของห้องสมุดทั้งระบบ ซึ่งความพยายามที่จะให้เป็นมหาวิทยาลัยเชิงเดี่ยว เพื่อเพิ่มพลังอำนาจการต่อรอง และผลักดันให้มีการบริหารทรัพยากรของห้องสมุด นอกเหนือจากขอบเขตการครอบครองของคณะหรือสาขาของตนนี้ จะต้องทำให้ความร่วมมือระหว่างกันของห้องสมุดต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาจมีการจัดตั้งสำนักงานที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดซื้อและการให้ใบอนุญาต ตลอดจนทำหน้าที่เจรจาต่อรองกับผู้จัดจำหน่าย เป็นต้น
  5. การร่วมมือใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างห้องสมุด ร่วมกันปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อทำให้การปฏิบัติงานร่วมกับระบบอื่น ๆ ของห้องสมุดในมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คณาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสามารถเข้าถึงทรัพยากรทางวิชาการได้มากที่สุด ขณะเดียวกันห้องสมุด ฮาร์วาร์ด พยายามขยายความร่วมมือดังกล่าวไปยังสถาบันอื่นด้วย เช่น MIT เพื่อลดค่าใช้จ่ายและทำให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน อันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการให้บริการของห้องสมุดทั้งในปัจจุบันและอนาคต


ศ.ดร เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

1 comment:

  1. ฮาร์วาร์ดแมนMay 16, 2011 at 11:39 AM

    เป็นตัวอย่างที่ดี ถ้าหยุดนิ่ง ก็ไม่สามารถรักษาความสำเร็จได้

    ReplyDelete