Wednesday, October 20, 2010

Kriengsak Chareonwongsak : Harvard Help in Heti

Kriengsak Chareonwongsak : ฮาร์วาร์ดระดมสรรพกำลังช่วยสถานการณ์ภัยพิบัติในเฮติ




ศ.ดร เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com



หลังการเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในประเทศเฮติ เมื่อวันอังคารที่ 12 มกราคม ค.ศ. 2010 ที่ผ่านมา ประชาคมฮาร์วาร์ดไม่ได้นิ่งนอนใจแต่ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือกับผู้ประสบภัยในพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร นักศึกษา คณาจารย์ และพนักงานมหาวิทยาลัย โดยตระหนักว่าสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนี้เป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยในการให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง กิจกรรมการช่วยเหลือดังกล่าวได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 2010 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย

  • การระดมเงินบริจาค ฮาร์วาร์ดได้จัดตั้งกองทุนเฉพาะสำหรับนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยตรง ซึ่งในที่นี้ได้เปิดโอกาสให้คณาจารย์ นักศึกษา และพนักงานมหาวิทยาลัยที่มีความต้องการ แต่ไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ ได้มีช่องทางในการแสดงออก รวมทั้งทางมหาวิทยาลัย ยังได้อำนวยความสะดวกให้กลุ่มคนเหล่านี้ โดยการช่วยรวบรวมรายชื่อองค์กรสาธารณประโยชน์ที่เปิดรับเงินบริจาคแบบออนไลน์ เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ลงในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยให้อีกด้วย

  • การส่งบุคลากรและร่วมมือกับองค์กรในเครือข่าย วิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) ได้ส่งแพทย์เดินทางไปเข้าไปในประเทศเฮติทันทีหลังจากการเกิดเหตุภัยพิบัติ 1 วัน อีกทั้งยังมีบุคลากรทางการแพทย์อื่นเดินทางไปร่วมสมทบด้วย เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ Central Plateau ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ Partners In Health องค์กรมนุษยธรรมด้านการแพทย์ในเครือฮาร์วาร์ด ขณะเดียวกันศูนย์วิจัยและวิชาการทางด้านมนุษยธรรมของฮาร์วาร์ด หรือ Harvard Humanitarian Initiative ได้ทำงานให้การสนับสนุนข้อมูลที่จำเป็นกับหน่วยงานหุ้นส่วนอื่น ๆ ในฮาร์วาร์ด, องค์กร Partners In Health, โรงพยาบาลกลางแมสซาชูเชตส์, โรงพยาบาลบริกแฮมแอนด์วีเมนส์ เมืองบอสตัน เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย หลังจากที่ได้ประเมินสถานการณ์ความจำเป็นของเฮติแล้ว

  • การผนึกกำลังขององค์กรนักศึกษาในมหาวิทยาลัย จัดแสดงคอนเสิร์ตการกุศล เพื่อกระตุ่นความห่วงใยและระดมเงินบริจาคจากกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและชุมชนฮาร์วาร์ด ตัวอย่างขององค์กรดังกล่าวเหล่านี้ ได้แก่ Harvard Caribbean Club, Harvard African Students Association, Harvard Haitian Alliance, Kuumba Singers of Harvard College, Harvard South Asian Men’s Collective และ Harvard Undergraduate Council เป็นต้น

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยประเทศไทย

จากสภาพการณ์ดังกล่าว ฮาร์วาร์ดได้ใช้สถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินในระดับโลก ในการมีส่วนร่วมกระตุ้นและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อื่นของประชาคมฮาร์วาร์ด โดยมีกลไกในการดำเนินกิจกรรมจากหลากหลายกลุ่ม หลายคณะและหลากหลายช่องทาง นับเป็นการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ในการพัฒนาการปลูกจิตสำนึกและการลงมือร่วมการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์

มหาวิทยาลัยควรสนับสนุนให้ประชาคมมหาวิทยาลัยทำกิจกรรมการส่งเสริมจิตสาธารณะอย่างกว้างขวางเมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกที่แสดงออกเป็นรูปธรรมในการมีความห่วงใยสังคมและการช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหา

นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยควรมีการพัฒนากลไกและช่องทางที่เป็นรูปธรรมและมีการดำเนินการต่อเนื่อง ในการให้ประชาคมมหาวิทยาลัยได้แสดงออกและมีส่วนร่วมทำดีเพื่อผู้อื่นแม้ในสถานการณ์ปกติ ทั้งการบริจาคด้วยทรัพสินเงินทอง และการบริจาคเวลาและแรงกายด้วย การส่งเสริมการบริจาคเวลาและความสามารถเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นจะทำให้ผู้เข้าร่วมมีประสบการณ์ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อื่น ซึ่งสามารถสร้างจิตสาธารณะได้มากกว่าการบริจาคแค่เงินทอง ดังเช่น โครงการกองทุนเวลาเพื่อสังคมที่ผมได้จัดตั้งขึ้นมาได้หลายสิบปีแล้วที่มีการพัฒนากิจกรรมอาสาสมัครที่หลากหลาย มีการดำเนินการอย่างกว้างขวาง โดยมีองค์กรทำงานอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการเป็นจำนวนมาก มีการพัฒนาการดำเนินกิจกรรมอาสาสมัครอย่างเป็นระบบ มีการจับคู่ระหว่างผู้ต้องการความช่วยเหลือและผู้สนใจหรือต้องการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ ประการสำคัญควรมีระบบการประเมินและพัฒนากิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวเป็นที่สนใจและมีอาสาสมัครมาร่วมในโครงการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

No comments:

Post a Comment