Sunday, April 17, 2011

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กับ หนังสือเล่มโปรด

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
ผู้อำนวยการสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา

ผู้สร้างสรรค์งานเขียนอาทิ ลายแทงความคิด และหนังสือเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์หลายเล่ม ดังนั้นหนังสือเล่มโปรดของคุณเกรียงศักดิ์จึงเต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ

      1. The Wealth of Nations by Adam Smith
      เป็นหนังสือตำราทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ยุคแรก ซึ่งผู้ที่ต้องการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ทุกคนต้องอ่านเพื่อวางรากฐานความรู้ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ หนังสือเล่มนี้นำเสนอแนวคิดเสรีนิยมในทางเศรษฐกิจ โดยพยายามปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวจัดแจงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ให้ผู้ใดมาแทรกแซง เพราะเชื่อว่ากลไกตลาดจะปรับสิ่งต่าง ๆ ให้อยู่ในภาวะสมดุล ซึ่งผลรวมสุดท้าย ทุกคนในสังคมจะได้ประโยชน์ และมีนัยสะท้อนถึงการจัดระเบียบสังคมผ่านการปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเสรี เพราะเชื่อว่าจะมี "มือที่มองไม่เห็น" (invisible hands) มาคอยตบแต่งให้กิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมเข้าสู่ความสมดุล สังคมก็จะอยู่เย็นเป็นสุข

      อดัม สมิธ เป็นนักทฤษฎีกลุ่มคลาสสิก (classical theorists) มีความเชื่อในกฎธรรมชาติและความมีเหตุมีผลของมนุษย์ โดยเชื่อว่ากลไกทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ แนวคิดนี้เป็นรากฐานเพื่อการพัฒนาต่อยอดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ของนักทฤษฎีกลุ่มอื่น ๆ ในเวลาต่อมา

      ข้อคิดที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ ประการแรก หนังสือเล่มนี้ได้ช่วยวางรากฐานความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ให้อย่างเป็นระบบ อดัม สมิธ ได้สรุปรวบยอดความรู้ในลักษณะของทฤษฎี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านในการนำไปใช้เป็นตำราและการศึกษาประวัติศาสตร์ทางเศรษฐศาสตร์ได้อย่างเป็นระบบ และช่วยให้เห็นความสำคัญของการเขียนตำรา หากผู้เขียนสามารถสรุปองค์ความรู้ได้ในลักษณะของทฤษฎี ย่อมเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ได้ง่าย

      นอกจากนี้ ยังช่วยให้เกิดความตระหนักว่า เสรีภาพเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ การจำกัดเสรีภาพโดยระบบจะทำให้เกิดการต่อต้านและระบบนั้นจะอยู่ไม่ได้ในที่สุด เช่น ระบบคอมมิวนิสต์ เป็นต้น ดังนั้น แม้ว่าทฤษฎีนี้ยังไม่มีความสมบูรณ์และมีการพัฒนาทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์อื่น ๆ ต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจริงนั่นคือ ความเป็นเสรีนิยมมีความเหมาะสมในการจัดระเบียบทางสังคมมนุษย์

      2. Utopia by Thomas More
      หนังสือเล่มนี้จัดเป็นวรรณกรรมการเมืองอมตะเล่มหนึ่งที่มีความใหม่เสมอในทุกยุคทุกสมัย เนื้อหาภายในเล่ม มอร์ ได้นำเสนอสังคมอุดมคติที่ดีงามว่าควรมีสภาพเป็นอย่างไร โดยให้ความสำคัญกับมนุษย์ทุกคน มากกว่าระบบที่เป็นอยู่ เช่น มนุษย์เท่าเทียมกัน ทุกคนอยู่ดีมีสุข ไม่อดอยากยากจน ไม่มีอาชญากรรม ไม่เห็นแก่ตัว มีความรักซึ่งกันและกัน เป็นต้น และได้นำเสนอเกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคม ให้ส่วนรวมของสังคมเป็นใหญ่กว่าปัจเจกชน ในลักษณะสังคมนิยม (แต่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ อยู่คนละยุคกับคาร์ล มาร์กซ์ หนังสือของโธมัส มอร์เขียนขึ้นประมาณศตวรรษที่13-14 ในขณะที่มาร์กซ์อยู่ในศตวรรษที่ 18-19)

      หนังสือเล่มนี้ อ่านแล้วทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากเห็นสังคมที่ดีงามเกิดขึ้นในโลกนี้ ไม่ต้องการให้คนต้องทนทุกข์อยู่กับความยากลำบากอีกต่อไป เช่น ไม่ต้องทนทุกข์กับระบอบการปกครองอำนาจนิยม ความอดอยากยากจน การรบราฆ่าฟัน การกดขี่ข่มเหง ฯลฯ และประทับใจในตัวผู้เขียนที่มีความเป็นนักมนุษย์นิยม เพราะการที่คนเราจะคิดเรื่องนี้ได้ ต้องเป็นคนที่มีใจยุติธรรม ใจที่เห็นแก่มนุษยชาติ ใจที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม จึงสามารถคิดและเขียนเรื่องนี้ออกมาได้ ข้อเขียนจึงสะท้อนการให้ความสำคัญกับมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ระบบการปกครองเป็นศูนย์กลางเช่นในสมัยนั้น

      นอกจากนี้ ยังได้ข้อคิดที่สำคัญ 2 ประการจากหนังสือเล่มนี้ ได้แก่

      1. สิ่งที่ได้จาก "โทมัส มอร์" ในฐานะผู้เขียนเรื่องนี้ คือข้อสรุปว่า "คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมต้องมีทั้ง ความกล้าหาญ และความฉลาด"
      มอร์อยู่ในยุคกลาง ที่ปกครองด้วยระบบศักดินา (Feudal System) มีเจ้าครองที่ดินปกครอง ประชาชนไม่มีสิทธิในที่ดินของตนเอง ต้องอยู่ในลักษณะของทาสติดที่ดิน ประชาชนจึงไร้ซึ่งเสรีภาพ ต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของเจ้าของที่ดินเป็นหลัก ประชาชนอยู่อย่างไม่มีความสุข ไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี เขาจึงต้องการเสนอความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยมุ่งที่ความสิทธิเสรีภาพและความสุขของคนในสังคมเป็นหลัก แต่การเสนอรูปแบบการเปลี่ยนแปลงอย่างตรงไปตรงมา ย่อมไม่สามารถทำได้ เนื่องจากอาจถูกต่อต้านจากผู้ปกครองในเวลานั้น

      มอร์ มีความกล้าหาญในการนำเสนอความคิดที่แตกต่างจากกรอบความคิดทางการปกครองในยุคนั้น เขาตระหนักดีว่า ระบบดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่การสร้างความยุติธรรมให้กับคนที่อยู่ภายใต้ระบบ และเป็นระบบที่ทำให้ผู้ปกครองใช้อำนาจในทางที่ผิด เป็นระบบที่สมควรได้รับการเปลี่ยนแปลง

      ในขณะเดียวกัน มอร์ มีความฉลาด ที่ไม่ได้ต่อต้านการปกครองแบบตรง ๆ แต่นำเสนอในรูปแบบของเรื่องแต่ง มีการดำเนินเรื่องต่าง ๆ เหมือนกับนิยายเรื่องหนึ่ง ในเนื้อหาได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า เขาให้ความสำคัญกับคนมากกว่าระบบ และสร้างระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ เพื่อเป็นเครื่องมือตอบสนองสันติสุขของคนในสังคม มีการนำเสนอในรายละเอียดรูปแบบการปกครอง โครงสร้างทางสังคมที่เน้นสิทธิ ความเท่าเทียม นำเสนอภาพของระบบการเมืองที่ดี ระบบเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการอยู่ดีมีสุขของประชาชน

      ข้อเขียนลักษณะนี้จึงมีทั้งพลังในการเผยแพร่แนวคิดสู่ประชาชนได้อย่างกว้างขวาง และได้สร้างพลังแห่งความปรารถนาในหมู่ประชาชนที่จะสร้างสังคมอุดมคติในลักษณะเช่นนั้น

      2. สิ่งที่ได้จากงานเขียนชิ้นนี้ คือข้อสรุปที่ว่า "สังคมที่ดีควรมีเป้าหมายเชิงอุดมคติ"
      ยูโทเปียนำเสนอสังคมในอุดมคติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง "การตั้งเป้าเชิงอุดมคติ" หรือการกำหนดเป้าหมายของสังคมที่ควรจะทำให้เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง ในอนาคต และในหนังสือยังได้วาดทิศทางชัดเจนที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น อันเป็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีพลังผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ หากคนจำนวนมากยึดอุดมคตินั้นและช่วยกันผลักดัน

      ในความคิดของคนจำนวนไม่น้อยอาจมองว่า "อุดมคติ" เป็นเรื่องเพ้อฝัน เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดได้ในโลกแห่งความจริง จึงมักขับเคลื่อนตนเองไปตามสถานการณ์ แท้จริงแล้ว อุดมคติไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่เป็นเครื่องมือในการรวมพลังคนนำไปสู่การทำสิ่งที่ดี การมีเป้าหมายเชิงอุดมคติ ทำให้คนมีความผูกพันเพราะมีเป้าหมายร่วมกัน และมีพลังร่วมกันที่จะผลักดันทำให้เป้าหมายอุดมคตินั้นสำเร็จ สังคมที่ปราศจากอุดมคติหรือไร้ซึ่งอุดมการณ์เป็นเป้าหมาย จะไม่มีพลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้แรงพอ

      3. How should we then live? By Francis Shaffer
      หนังสือเล่มนี้อธิบายว่า สิ่งที่คนแสดงออก สะท้อนเบื้องลึกแห่งจิตใจและความคิดของเขา โลกในความคิดของคนเราจะไหลออกมาเป็นการกระทำภายนอก ซึ่งมีผลต่อระบบค่านิยม ความคิดสร้างสรรค์ และการกระทำในภาพรวม เช่น การตัดสินใจทางการเมือง เป็นต้น และมีผลต่อการดำเนินชีวิตส่วนตัวอีกด้วย

      ผู้เขียนเน้นว่า คนเรามีสมมติฐานอันเกิดจากโลกทัศน์ (มุมมอง) เรื่องชีวิต และจะดำเนินชีวิตไปตามสิ่งที่ทำเป็นปกติมากกว่าที่จะตระหนักถึงสมมติฐานเหล่านั้นอันเป็นพื้นฐานความคิดของเขาและรวมถึงการกระทำของเขาด้วย ผู้เขียนย้ำประเด็นสำคัญว่า ปัจเจกบุคคลไม่ใช่เป็นเพียงสินค้าอันเกิดจากการลงแรงที่อยู่รอบตัวเขาเท่านั้น แต่เขาเหล่านั้นมีจิตใจ มีโลกทัศน์ และมีความคิดด้วย ซึ่งเขาสามารถทำให้การกระทำต่าง ๆ เกิดขึ้นในโลกภายนอกและมีผลต่อโลกภายนอกนั้นได้

      หนังสือเล่มนี้ ได้ให้ข้อคิดที่มีคุณค่าอย่างมากในการทำความเข้าใจคน ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและในระดับสังคม ทำให้เกิดความเข้าใจว่า แต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน ในขณะเดียวกันก็มีความคล้ายคลึงกันในบางเรื่องกับคนในสังคมเดียวกัน ที่เรียกว่า ค่านิยม ซึ่งแตกต่างจากคนในสังคมอื่น อันเกิดจากกระบวนการหล่อหลอมทางความคิดที่แตกต่างกัน

      4. The 7 Habits of Highly Effective People by Stephen R.Covey
      หนังสือเล่มนี้รวบรวมหลักการพื้นฐานในการเป็นคนมีประสิทธิผล โดยใช้อุปนิสัย 7 ประการ อุปนิสัย 3 ข้อแรก เป็นอุปนิสัยที่ทำให้เราเอาชนะตนเอง จะทำให้เราเกิดความมั่นใจในตนเอง เราจะเรียนรู้จากตัวเองมากขึ้น อุปนิสัยอีก 3 ประการ เป็นอุปนิสัยที่จะทำให้เราเอาชนะใจคนทั่ว ๆ ไป มิตรภาพจะดีขึ้นและเป็นไปอย่างลึกซึ้ง มั่นคงและสร้างสรรค์มากกว่าเดิม ส่วนอุปนิสัยที่ 7 เป็นการกระตุ้นอุปนิสัยทั้งหกให้มีพลังอยู่เสมอ เป็นหนังสือที่ทำให้เห็นว่า ความสำเร็จเกิดจากความสามารถในการค้นพบตัวตนที่แท้จริง ค้นพบสิ่งที่เราต้องการมากกว่าการที่ต้องการให้สังคมยอมรับ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้กลายเป็นคนที่มีประสิทธิผลได้

      ข้อคิดที่ได้ หนังสือเล่มนี้ให้หลักการที่ดีในการดำเนินชีวิต โดยชี้ให้เห็นว่า แม้เราเป็นคนที่มีเสน่ห์ในสังคม แต่ขาดปัจจัยหลักคือการเป็นคนที่มีอุปนิสัยที่ดีแล้ว ไม่ช้าก็เร็วความสัมพันธ์ในระยะยาวไม่ว่าในทางธุรกิจหรือส่วนตัว ครอบครัว หรือเพื่อนฝูงจะนำไปสู่ภาวะวิกฤต อุปนิสัยที่ดีต่างหากที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา

1 comment:

  1. ชอบมากครับได้ความรู้ และได้ความคิดที่จะกลับมาเป็นหนอนหนังสืออีกรอบ ขอบคุณมากครับ

    ReplyDelete