Monday, April 11, 2011

ดุลยภาพค่าจ้างแรงงานและราคาสินค้า

Professor Kriengsak Chareonwongsak
           ความพยายามทำให้ค่าจ้างแรงงานและราคาสินค้าเป็นเครื่องมือ โดยไม่สอดคล้องกับโครงสร้าง
ปัจจัยการผลิตหรือกลไกตลาดย่อมทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์สูงมาก และอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่าผลดี

           ตัวอย่างเช่น การกำหนดค่าจ้างแรงงานในระดับสูงในขณะที่ประเทศมีแรงงานไร้ฝีมือจำนวนมาก
จะทำให้ธุรกิจที่อยู่ในระบบมีต้นทุนสูงขึ้นทันที ธุรกิจจำนวนหนึ่งอาจต้องลดขนาดกิจการหรือปิดกิจการลง
เพราะแข่งขันไม่ได้ ธุรกิจอีกจำนวนหนึ่งต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า ธุรกิจ
อีกส่วนหนึ่งต้องหันไปใช้แรงงานต่างด้าวหรือออกนอกระบบเพื่อจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่ทางการกำหนด ขณะที่
ธุรกิจบางส่วนเท่านั้นที่สามารถปรับโครงสร้างการผลิตไปใช้เครื่องจักรแทนแรงงานเพราะแรงงานฝีมือใน
ประเทศยังมีจำนวนจำกัดผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาพรวม คือ ระบบเศรษฐกิจอาจมีขนาดเล็กลงเพราะกิจการ
จำนวนมากต้องปิดตัวลง หรือย้ายฐานการผลิตออกไป แรงงานจำนวนมากต้องตกงานหรือถูกปลดออกจาก
งาน ถึงแม้ว่าแรงงานในระบบจะมีค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น แต่ค่าจ้างเฉลี่ยทั้งประเทศอาจลดลง เพราะแรงงาน
นอกระบบจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและ ยังคงรับค่าจ้างแรงงานในระดับต่ำกว่าอัตราค่าจ้างที่ทางการกำหนด
หรืออาจได้รับค่าจ้างต่ำลงกว่าระดับค่าจ้างเดิมเพราะกิจการปิดตัวไปมากทำให้ความต้องการแรงงานลดลง

           เช่นเดียวกับการเพิ่มราคาสินค้า ซึ่งรัฐบาลจะต้องแทรกแซงกลไกตลาด โดยการกำหนดเพดาน
ราคาซื้อขายสินค้า หรือจำกัดปริมาณการผลิตและปริมาณการนำเข้าสินค้า แต่การแทรกแซงตลาดดังกล่าว
จะทำให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด (excess supply) เพราะราคาที่สูงขึ้นจะทำให้ผู้ผลิตมีแรงจูงใจผลิต
สินค้าออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคต้องลดปริมาณการบริโภคลง (แม้ทฤษฎีสองสูงระบุว่า การเพิ่ม
ค่าจ้างแรงงานจะทำให้แรงงานมีกำลังซื้อมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงมีแรงงานในระบบเท่านั้นที่มีค่าจ้าง
เพิ่มขึ้น แต่ค่าจ้างแรงงานโดยรวมอาจจะลดลงดังที่วิเคราะห์ในย่อหน้าที่แล้ว) ซึ่งกลไกตลาดจะปรับเข้าสู่
ดุลยภาพทำให้ราคาสินค้าต่ำลงในที่สุดเว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลต้องจ่ายต้นทุนในการอุดหนุนผู้บริโภคหรือต้นทุนการควบคุมและตรวจสอบการลักลอบผลิต การนำเข้าและการซื้อขายสินค้าในตลาดมืด

บทความจาก ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate)

No comments:

Post a Comment