Friday, February 18, 2011

เด็ก กทม. เรียนทั่วถึง ฟรี มีคุณภาพ

Professor Kriengsak Chareonwongsak


ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีเด็กที่อยู่ในฐานะครอบครัวยากจนหรือมีรายได้ต่ำ 359,324 คน (การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ.2545 สำนักงานสถิติแห่งชาติ) ประกอบกับมีเด็กไร้สัญชาติ เด็กไม่มีใบเกิด เด็กเร่ร่อน เด็กที่อพยพย้ายตามพ่อแม่ที่เป็นแรงงานก่อสร้าง เด็กกลุ่มนี้มีจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือต้องออกกลางคัน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงก่อปัญหาสังคม

ดังนั้น กรุงเทพฯ ควรให้เด็กและเยาวชนกลุ่มดังกล่าวเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษา เพื่อได้รับโอกาสในการพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

โจทย์อยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้โรงเรียนสังกัด กทม. ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 433 โรง มีครูประมาณ 15,000 คน สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอและทั่วถึง เพื่อรองรับเด็กกลุ่มนี้ โดยขอบเขตของการจัดการศึกษาของ กทม. คือ จัดการศึกษาฟรี มีงบประมาณเพียงพอ และมีคุณภาพ ผมเสนอแนวทาง ดังนี้

คำนวณต้นทุนที่แท้จริงในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ

แม้ว่าช่วงมีนาคม พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในโรงเรียนทุกประเภทและทุกสังกัด ดังนี้ ระดับก่อนประถมศึกษา 1,700 บาท ประถมศึกษา 1,900 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น 3,500 บาท และ มัธยมศึกษาตอนปลาย 3,800 บาท โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2551แต่หากพิจารณาต้นทุนจัดการศึกษาที่มีคุณภาพของโรงเรียนสังกัด กทม. พบว่าไม่เพียงพอ เนื่องจากเด็กยากจน เด็กไร้สัญชาติ เด็กไม่มีใบเกิด เด็กเร่ร่อน และเด็กที่อพยพย้ายตามพ่อแม่ จำเป็นต้องอุดหนุนในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น เสื้อผ้า อาหารกลางวัน นมโรงเรียน หนังสือและอุปกรณ์การเรียนและอื่น ๆ นั่นหมายถึง การต้องคำนวณค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยทำวิจัยและศึกษาอย่างเป็นระบบ

สนับสนุนภาคส่วนอื่นเข้าร่วมจัดการศึกษา

เมื่อได้ค่าใช้จ่ายรายหัวผู้เรียนในจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ แต่ความเป็นจริง กทม. มีงบฯ จำกัด จำเป็นต้องระดมทรัพยากรจากภาคส่วนอื่นเพิ่มเติมเพื่ออุดช่องว่างที่เกิดขึ้น อาทิ

การให้บริษัทเอกชนมีส่วนร่วมจัดการศึกษา ให้เป็นแหล่งฝึกงาน ช่วยกันเกื้อหนุน ช่วยการสอน โดยมามีส่วนร่วมกับโรงเรียนคือ ให้ 433 บริษัทเข้าช่วยดูแล 433 โรงเรียน ตัวอย่างในกัมพูชา มีบริษัทการโรงแรมขนาดใหญ่ เจ้าของต้องการทำโรงแรมที่มีส่วนเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนเขมรที่ขัดสน โดยนำเอาโปรแกรมต่าง ไปช่วยเด็กในโรงเรียน ให้เด็กนั้นมาฝึกงานที่โรงแรมทุกวันเสาร์เรื่องจัดการโรงแรม ทำอาหาร การให้บริการ ฯลฯ หากจบการศึกษาสามารถเข้าทำงานเป็นพนักงานได้ เป็นต้น

การใช้อาสาสมัครจากองทุนเวลาเป็นครู ผมได้จัดตั้งกองทุนเวลาเพื่อสังคม (Time Bank Society) ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมอาสาสมัครที่ต้องการทำงานสาธารณะ อาจนำอาสาสมัครกลุ่มนี้ไปเป็นครูช่วยสอนในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยจัดสรรเวลาสอนกันคนละ 3 ชั่วโมงต่อเดือน เป็นการสอนที่ให้ความรู้ พัฒนาทักษะ หรือสร้างแรงจูงใจ แรงบันดาลใจ แบ่งปันประสบการณ์ชีวิต หรืออาจชวนอาสาสมัครนานาชาติจากทั่วโลกมาร่วมสอน เช่น สอนภาษาอังกฤษ โดยให้ผู้อาสาตัวมาอยู่ 1 ปี ส่งไปตามช่วยสอนภาษาตามโรงเรียน โดยอาจจะต้องดูแลค่าที่พัก ค่าอาหาร และอำนวยความสะดวกต่าง ๆ วิธีการนี้จึงจะไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากเช่น ผมได้ชวนเพื่อนที่จบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทำงานมีรายได้ 10 กว่าล้านดอลลาร์ต่อปีชวนมาอยู่เมืองไทย มาช่วยคนไทย มาเป็นครูช่วยสอนและพัฒนาเด็กไทย ซึ่งเขาสนใจและกำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่

มหาวิทยาลัยพี่ช่วยโรงเรียนน้อง เป็นการสนับสนุนมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ นำนักศึกษา และคณาจารย์เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาโรงเรียน กทม. โดยอาจทำกรณีศึกษา การสนับสนุนทุนวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ในเรื่องการพัฒนาโรงเรียนสังกัด กทม.

สร้างเครือข่ายการเรียนรู้นอกสถานศึกษา

การเรียนรู้ในสถานศึกษาสังกัด กทม. นั้นไม่เพียงพอ เพราะมีความจำกัดด้านพื้นที่และทรัพยากร ทางออกหนึ่งคือ การสร้างเป็นเครือข่ายการเรียนรู้กับแหล่งเรียนรู้นอกสถานศึกษา โดยอาจให้เด็กไปเรียนรู้จากห้องสมุดมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิชาการ การเข้าร่วมกิจกรรมที่ กทม.หรือหน่วยงานอื่นในสังคมจัดขึ้นอย่างเป็นระบบ มีการเดินทัศนศึกษาตามเส้นทางวัฒนธรรมคนเมืองกรุงฯ ฯลฯ โดยจัดระบบและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีปฏิทินกิจกรรมของ กทม. ตลอดปี นั่นหมายความว่า กทม. ต้องจัดสรรงบเฉพาะในการนำผู้เรียนเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของเมืองด้วย

สร้างความร่วมมือประสานเด็กในชุมชนสู่โรงเรียน

ปัจจุบันมีเด็กในชุมชน กทม. จำนวนมาก ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียน เนื่องจากผู้ปกครองไม่มีความรู้เข้าใจในการนำเด็กเข้าสู่สถานศึกษา หรือผู้ปกครองต้องอพยพไปเรื่อย ๆ ดังนั้น กทม. ควรมีระบบเชื่อมต่อให้ผู้ปกครองนำเด็กกลุ่มนี้เข้าสู่สถานศึกษา ให้ผู้ปกครองรับรู้สิทธิตามกฎหมายและช่องทางว่า เด็กไม่มีใบเกิด ไม่มีสัญชาติสามารถเข้าเรียนได้ รวมถึงมีเส้นทางนำเด็กที่ออกกลางคันกลับสู่ระบบศึกษา โดยมีนักจิตวิทยาหรือผู้ประสานงานลงพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้ปกครองให้นำบุตรหลานกลับสู่ระบบการศึกษา

การให้ผู้เรียนทุกคนได้เข้าเรียน เรียนฟรี และได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพจากโรงเรียน กทม.เป็นสิ่งจำเป็น โดยต้องวางแผน จัดการเป็นระบบ และหากลยุทธ์ระดมทรัพยากรจากภาคส่วนอื่น ย่อมทำให้การพัฒนาโรงเรียน กทม. มีคุณภาพ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสามารถดำเนินการให้เกิดขึ้นได้

บทความ ของ ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate)

credit by www.kriengsak.com

No comments:

Post a Comment