Professor Kriengsak chareonwongsak |
ทว่าน่าเศร้ายิ่งนัก เมื่อสำรวจหมู่บ้านครอบครัวจากชีวิตจริงพบว่า บ้านจำนวนไม่น้อย ที่สามีภรรยาได้สร้างขึ้นกลับมีสภาพเหมือนกับที่บรรยายไว้ในคำโฆษณาของหมู่บ้านไร้สุข โดยมีแบบบ้านไร้สุขที่ทันสมัยให้เลือกหลากหลายรูปแบบ อาทิ
แบบที่ 1 บ้านรังหนู
หนูมีพฤติกรรมอย่างหนึ่งก็คือมันชอบคาบอาหารกลับมาไว้ที่รัง เมื่อมันกินก็จะเหลือเศษเล็กๆ น้อยๆ เต็มรังที่แสนจะสกปรกอยู่แล้วก็ยิ่งแลดูสกปรกมากยิ่งขึ้นไปอีก คำเปรียบนี้จึงเหมือนกับบ้าน ที่มีแต่ความสับสน วุ่นวาย รกรุงรัง และยุ่งเหยิง อันเนื่องมาจากสามีและภรรยาเป็นคนขาดระเบียบวินัย ในการดำเนินชีวิตขาดการบริหารจัดการครอบครัวในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก
เช่น ไม่มีการเก็บของให้เป็นระเบียบ… ใครอยากวางอะไรตรงไหนก็วาง เมื่อหาสิ่งที่ต้องการไม่พบ ก็โวยวาย ไม่มีการวางแผนเวลา…ใครอยากทำอะไรตอนไหนก็ทำ เมื่อพลาดโอกาสที่ดีๆ ไปก็ต่อว่า และโทษกันและกัน และไม่มีการวางแผนบริหารการเงิน…ใครอยากซื้ออะไรก็ซื้อ เมื่อชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็เกิดความเครียด ต้องไปกู้หนี้ยืมสินผู้อื่น ในบ้านหลังนี้ทั้งสามีภรรยาจึงต้องเผชิญแต่ปัญหาเฉพาะหน้า จนทำให้ชีวิตสมรสปราศจากความสุข
บ้านรังหนูเป็นบ้านที่สามีภรรยาไม่รู้จักวางแผน ไม่มีระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิต แต่มักจะชอบใช้ชีวิตตามสบายๆ อยู่ไปวันๆ ไม่ค่อยคิดและเตรียมการสำหรับอนาคต ดังนั้นจึงต้องเผชิญแต่ปัญหาที่ตนเองได้สร้างไว้ และต้องตามแก้ไขกันตลอดทั้งชีวิต มีปัญหาใหม่ๆ ทับโถมเข้ามาตลอดเวลา กลายเป็นบ้านที่มีแต่ความวุ่นวายไม่น่าอยู่อาศัย นำไปสู่ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างกันได้ตลอดเวลา
แบบที่ 2 บ้านหน้าจอ
บ้านหน้าจอ หมายถึง บ้านที่สมาชิกในครอบครัวขาดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน อันเนื่องจากต่างคนต่างมีปฏิสัมพันธ์กับเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ของตน เช่น พ่อนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อเตรียมส่งงานให้หัวหน้า แม่นั่งหน้าจอ โต้ตอบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กับกลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรีทั่วโลก ลูกนั่งหน้าจอเล่มเกมคอมพิวเตอร์ รุ่นใหม่ล่าสุด ส่วนคุณยายนั่งหน้าจอโทรทัศน์ชมรายการละครชีวิตเรื่องที่คนทั้งประเทศติดกันงอมแงม เป็นต้น คนในครอบครัวใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับสิ่งที่ตนเองพอใจ
เทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันทำให้คนอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บ้านหน้าจอจึงมีแนวโน้มเกิดมากขึ้นในประเทศไทย ทุกคนต่างไม่มีใครสนใจใคร เมื่อกลับถึงบ้านรับประทานอาหาร อาบน้ำเสร็จ ทุกคนก็จะเข้าสู่โลกส่วนตัวของตนเอง คนในครอบครัวก็จะห่างเหินกันเพราะต่างคนต่างก็มีกิจกรรมเป็นของตนเอง คนในครอบครัวจะรู้จักและให้ความสนใจกันและกันน้อยลง ความลับระหว่างกันจะมีมากขึ้น เนื่องจากไม่รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งกำลังทำอะไรอยู่ ต่างมีข้อมูลที่สมาชิกคนอื่นในครอบครัวไม่รู้ และไม่สามารถพูดคุยได้ เพราะต่างคนต่างสนใจกันคนละเรื่อง
และในที่สุดก็จะพบว่าพวกเขาไม่มีความสุขที่แท้จริงในการดำเนินชีวิต ความรู้สึกเปลี่ยวเหงา และขาดความรักจากคนในครอบครัวจะเกิดขึ้นตามมา
แบบที่ 3 บ้านสนามรบ
บ้านหลังนี้จำลองมาจากสนามรบจริง เพียงแต่ย่อขนาดและจำนวนคู่ต่อสู้ให้เหลือเพียงบ้านหนึ่งหลัง กับคนสองคน คือสามีและภรรยา บ้านหลังนี้จะอบอวลไปด้วยเสียงทะเลาะวิวาท ด่าทอบ่อยครั้งที่คู่ต่อสู้ ใช้อาวุธทั้งหนักและเบาเข้าโจมตีปะทะกัน ข้าวของหลายอย่างที่ปกติไม่เคยบินได้ก็จะบินว่อนเต็มไปหมด อาทิ มีดบิน ตะหลิวบิน กะทะบิน จานบิน หรือแม้กระทั่งเก้าอี้บิน
การรบจะเกิดขึ้นเมื่อมีปัญหาความขัดแย้งหรือไม่พอใจอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ภรรยาไปทำธุระกลับบ้านดึก สามีรู้สึกหงุดหงิดเพราะไม่ไว้วางใจ เมื่อกลับมาแทนที่จะถามภรรยาดีๆ ว่า ไปไหนมา กลับต่อว่าหรือกล่าวหาอย่างเสียๆ หายๆ แทนที่จะใช้วิธีเจรจากันอย่างสันติ กลับไม่สามารถระงับอารมณ์ของตนเองได้ จึงเกรี้ยวกราดใส่อีกฝ่ายหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการยั่วยุอีกฝ่าย ให้เกิดความโมโหเช่นกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างโมโหก็เหมือนเอาน้ำมันราดลงบนไฟเมื่อไฟลุกโชติช่วง แล้วก็ยากที่จะดับลงได้ สามีภรรยาหลายคู่จึงจำเป็นต้องขายบ้านทิ้ง เลิกรากันไปอย่างสะบักสะบอม ด้วยกันทั้งสองฝ่าย
แบบที่ 4 บ้านหอพัก
หากใครเคยอยู่หอพักคงเข้าใจสภาพบ้านหลังนี้ดี สามีภรรยาอาศัยอยู่ในบ้าน เหมือนเป็นเพื่อนร่วมห้อง (room mate) เท่านั้น ไม่มีความรู้สึกผูกพันลึกซึ้งไม่มีความห่วงใยเอาใจใส่กัน ใครจะไปไหนจะกลับเมื่อไร กินอยู่อย่างไร ต่างคนก็ต่างรับผิดชอบดูแลตัวเอง รับประทานอาหารคนละเวลา กลับมาอาบน้ำดำเนินกิจวัตรส่วนตัวและต่างฝ่ายต่างก็นอนหลับไป โดยไม่มีความสนใจกัน บางคู่อาจถึงกับเช่าสองห้อง คือแยกห้องนอนกันอยู่
บ้านหอพักนี้เกิดขึ้นเมื่อทั้งสองฝ่ายเบื่อกันและกันจนถึงที่สุดหรือไม่มีความรักให้แก่กัน เพราะแต่งงานด้วยความจำเป็น หรือมีปัญหาระหว่างกันมากเสียจนไม่อาจเป็นสามีภรรยา ทางพฤติกรรมได้อีกต่อไป แต่ต้องทนอยู่ด้วยกันเพราะอับอายเกรงว่าสังคมจะล่วงรู้ว่า ชีวิตคู่ของคนนั้นล้มเหลว บ้านหลังนี้สภาพภายนอกจึงได้รับตกแต่งให้ดูดีอยู่เสมอ แต่ไร้แก่นสารของความเป็นครอบครัว
แบบที่ 5 บ้านเรือนจำ
เรือนจำกักขังเสรีภาพนักโทษอย่างไร บ้านหลังนี้ก็กักขังเสรีภาพของคู่สมรสฉันนั้น ภายในบ้านสามีหรือภรรยาจะปฏิบัติต่ออีกฝ่ายหนึ่งราวกับเป็นนักโทษ เต็มไปด้วยความรู้สึกหึงหวง ไม่ให้เกียรติ ไม่ไว้วางใจ สามีภรรยาบางคู่จะมีฝ่ายหนึ่งที่โทรศัพท์ไปหาอีกฝ่ายหนึ่งแทบทั้งวัน เพื่อเช็คว่าทำอะไร อยู่ที่ไหน อยู่กับใคร จนกระทั่งอีกฝ่ายหนึ่งแปรสภาพจากความรักเป็นความรำคาญและความรู้สึกอึดอัด อยากจะมีอิสรภาพออกจากคุกแห่งนี้ไป ในแต่ละวันที่ผ่านไปจึงเก็บกดความรู้สึกเลวร้ายทับถมไว้ เหมือนภูเขาไฟที่ภายในค่อยๆ ระอุและพร้อมจะปะทุได้ทุกเมื่อ
ความรักของคู่สมรสที่ไม่ได้อยู่บนรากฐานของความไว้วางใจ ความเชื่อใจ และการให้เกียรติอีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมนำมาซึ่งการรุกเร้าเพื่อแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของ ดังนั้นแทนที่ทั้งสองฝ่ายจะเล่นบทบาทสามีภรรยา อย่างที่ควรจะเป็น คนหนึ่งกลับเล่นบทบาท "พัศดี" ผู้คุมนักโทษ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งจึงกลายเป็นนักโทษไปโดยปริยาย ในที่สุดเมื่อนักโทษทนไม่ได้ เขาก็จะดิ้นรนหาทางแหกคุกเพื่อสูดกลิ่นอายแห่งอิสรภาพที่เคยได้รับ เมื่อครั้งก่อนแต่งงาน
แบบที่ 6 บ้านเดี่ยว
บ้านเดี่ยวในที่นี้ไม่ได้หมายถึงบ้านที่มีบริเวณ แต่เป็นบ้านที่มีสามีหรือภรรยาอยู่เพียงฝ่ายเดียว เพราะเหตุแยกทางกันเดิน จึงส่งผลให้บ้านที่เคยอยู่กันอย่างพร้อมหน้าเหลือเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกับลูกๆ เท่านั้น สภาพบ้านเดี่ยวนี้กำลังเป็นที่นิยมในต่างประเทศ ดูได้จากอัตราการหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น ในสหรัฐอเมริกาปัจจุบันอัตราการหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น ในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันอัตราการหย่าร้าง โดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 50 และในบางมลรัฐสูงถึงร้อยละ 60-70 ของจำนวนคู่แต่งงานทั้งหมด ส่วนในประเทศไทยอัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 15.72 ในปี 2540 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20.8 ในปี 2541 จากจำนวนคู่แต่งงานในปีนั้น
บ้านเดี่ยวนี้นับวันขายดีขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุเกิดจากความขัดแย้งจากลักษณะนิสัยที่เข้ากันไม่ได้ ความไม่ซื่อสัตย์ของคู่สมรสการที่ต่างฝ่ายต่างพึ่งพาตนเองได้ และสามีสำคัญที่อาจจะเกิดมากขึ้นในอนาคตก็คือ ค่านิยมการดำเนินชีวิตคู่ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปความรู้สึกที่ว่าจะอยู่กันจนถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชรเริ่มลดลง
แนวคิดของชาวอเมริกันช่วงอายุ 40-50 ปี ซึ่งแต่งงานตั้งแต่อายุ 20-30 ปี เริ่มตระหนักว่า การมีคู่สมรสเพียงคนเดียวตลอดชีวิตอาจเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม พวกเขาเห็นว่าคู่สมรสอาจจะเหมาะ ที่จะอยู่ด้วยกันสัก 20 ปีพอได้ แต่หลังจากนั้นต่างคนก็ต่างเปลี่ยนแปลงไป ทั้งทิศทางการดำเนินชีวิต ค่านิยม ความคาดหวัง ความสนใจในเรื่องแตกต่างกัน ความแตกต่างกันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่เหมาะสม ที่จะอยู่ด้วยกันตลอดชีวิต ค่านิยมเช่นนี้อาจจะไหลบ่ามาถึงประเทศไทยในเร็ววันนี้
ในปัจจุบันนี้ บ้านแบบต่างๆ ของหมู่บ้านไร้สุข ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าโดยไม่ต้องใช้การโฆษณาเลย แม้แต่น้อย และยิ่งบ้านเหล่านี้ขายดีมากเท่าใด ภาวะครอบครัวล่มสลายก็ยิ่งเกิดเร็วมากขึ้นเท่านั้น ทางที่ดีกว่านั้นก็คือ สามีภรรยาควรเริ่มต้นช่วยกันสร้าง "บ้านแห่งความสุข" โดยวางแบบแปลนของบ้าน ไว้อย่างดีล่วงหน้าว่าจะสร้างบ้านอย่างไรให้เป็นบ้านที่มีความสุข ความรัก มีความอบอุ่น มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วมในเส้นทางเดินของชีวิตร่วมกัน จากนั้นจึงช่วยกันลงหลักปักฐานสร้างให้เป็นบ้านที่แข็งแกร่งทนทานและอยู่ได้นานตลอดชีวิต
ลักษณะบ้านที่มีความสุขนั้นจะวางรากฐานด้วยความรัก ลงเสาหลักด้วยความผูกพัน ก่ออิฐแห่งความไว้วางใจ ติดประตูและหน้าต่างด้วยการให้อภัย ทาสีแห่งความสุภาพอ่อนโยน มุงหลังคาด้วยความซื่อสัตย์และความอดทน ปูทางเท้าด้วยความช่วยเหลือเกื้อกูล ใส่กลอนประตูแห่งความรับผิดชอบ ใช้เฟอร์นิเจอร์แห่งความสัมพันธ์กลมเกลียว และประดับประดาสิ่งต่างๆ ด้วยใจที่ปรารถนาให้ความรักนั้นยิ่งยืนนาน
บ้านหลังนี้ที่สร้างขึ้นเป็น "บ้านต้นแบบ" ของ "หมู่บ้านแห่งความสุข" ที่แตกต่างจากหมู่บ้านไร้สุข ตรงที่บ้านหลังนี้สามีภรรยาต้องเป็นผู้ลงแรงปลูกสร้างและระวังรักษาเป็นอย่างดีด้วยตนเอง จะให้คนอื่นสร้างและดูแลรักษาให้ไม่ได้
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
No comments:
Post a Comment