Saturday, September 10, 2011

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ การผลักดันให้ไทยมีมหาวิทยาลัยวิจัย


การผลักดันให้ไทยมีมหาวิทยาลัยวิจัย นับเป็นเรื่องที่ภาครัฐเริ่มให้ความสนใจ กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายที่จะผลักดันให้มหาวิทยาลัยสร้างผลงานวิจัย เพื่อนำวิจัยไปใช้ได้จริง ตรงความต้องการ สามารถนำไปใช้งานได้จริง ทั้งนี้มหาวิทยาลัยวิจัยที่จะเกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เป็นการสร้างมหาวิทยาลัยขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการจัดประเภทมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ รวมไปถึงการเพิ่มขีดความสามารถด้านอื่นของมหาวิทยาลัยร่วมด้วย

ทั้งนี้ได้มีผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า มหาวิทยาลัยวิจัยอาจเกิดขึ้นยาก และต้องใช้เวลาในการพัฒนาเนื่องจาก ปัญหาการวิจัยในมหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่นั้น ขาดอาจารย์ที่มีประสบการณ์ในการทำวิจัย ขาดเงินสนับสนุนการวิจัย รวมถึงการทำวิจัยของมหาวิทยาลัยเอง มักมีลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่มีการวางแผนการทำวิจัยร่วมกัน เพื่อให้เกิดคุณภาพและประสิทธิภาพ รวมถึงมีความหลากหลาย เกิดประโยชน์สูงสุด

หากพิจารณาจากตัวอย่างของฮาร์วาร์ด ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นแหล่งสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อหลายวงการ ส่งผลให้ฮาร์วาร์ดได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 25 มหาวิทยาลัยวิจัยดีเด่น จากโครงการเดอะเซ็นเตอร์ (The Center) มหาวิทยาลัยฟลอริดา เราพบข้อคิดสำคัญที่อาจเป็นแนวทางเพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปประยุกต์ เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยให้เกิดขึ้นในประเทศไทยในเร็ววัน

ผู้บริหารเห็นคุณค่าการทำวิจัย ความมีชื่อเสียงและมีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วโลกนั้น ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยรุ่นแล้วรุ่นเล่า ที่ผลักดันและกำหนดกลไกอย่างเป็นรูปธรรม วาดภาพให้บุคลากรเห็นว่า มหาวิทยาลัยจะมุ่งเน้นงานวิจัยในด้านใด ใครจะเข้ามามีส่วนร่วมบ้างอย่างไร ผู้เรียนจะถูกพัฒนาทักษะด้านใด เพื่อทำวิจัยอย่างมีคุณภาพ เป็นต้น

สร้างแรงจูงใจให้อาจารย์ทำวิจัย กำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจให้อาจารย์และบุคลการในมหาวิทยาลัยทำวิจัย เช่น ทำสัญญาจ้างงานชั่วคราวกับอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์บางประเภท ถ้าไม่มีผลงานวิจัยและงานวิชาการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยมีสิทธิบอกเลิกสัญญา ทำให้คณาจารย์ทุกคณะต่างกระตือรือร้น ทำผลงานวิชาการกันอย่างจริงจัง

สร้างบุคลาการวิจัยผ่านการเรียนการสอน การเรียนการสอนในฮาร์วาร์ดนั้น ล้วนเป็นไปในทิศทางที่สอนให้นักศึกษารู้จักค้นคว้า ฝึกฝนทักษะการคิด การทำวิจัยในทุกวิชา และทุกระดับ โดยอาจารย์เน้นให้นักศึกษาที่ทำวิจัยมีผลงานวิจัยที่เป็นต้นแบบ เป็นนวัตกรรม หาหนทางวิธีการที่ดีที่สุด ที่นำพาให้ผู้เรียนรู้จักความจริง รวมถึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาทำวิจัยเขียนงานวิชาการ ทำงานวิจัยร่วมกับผู้สอน

ร่วมมือเอกชน นำงานวิจัยสู่ภาคปฏิบัติ ฮาร์วาร์ดมีแนวทางในการต่อยอดงานวิจัย เพื่อแก้ปัญหา “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” โดยการสร้างความร่วมมือกับบริษัทเอกชน เพื่อต่อยอดงานวิจัย สร้างนวัตกรรม และนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะจุดเด่นของมหาวิทยาลัย เช่น การแพทย์และสาธารณสุข วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ การบริหารธุรกิจ การเมืองการปกครอง เป็นต้น

ตีพิมพ์งานวิจัย ขยายแนวคิดสู่ระดับนานาชาติ ฮาร์วาร์ดมีสำนักพิมพ์ และออกสื่อสิ่งพิมพ์เป็นของตนเองหลายฉบับ การเป็นเจ้าของสื่อนี้เอง ที่เป็นทั้งช่องทางในการขยายความคิด จับจองพื้นที่ ถ่ายทอดความรู้ออกสู่สังคม เพื่อให้บุคคลหลายอาชีพได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

Professor Kriengsak Chareonwongsak

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมที่สนับสนุนให้ฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งในสหรัฐอเมริกามีความตื่นตัว และพัฒนาตนเอง เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่ทั่วโลกยอมรับ นั้นคือ การสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากรัฐบาลและภาคีอื่นในสังคม ไม่ว่าจะเป็น

กลไกด้านกฎหมาย ที่จูงใจให้เกิดการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจเอกชน ที่เห็นชัดเจนคือ Bayh-Dole Act หรือ Patent and Trademark Law Amendments Act 1980 ซึ่งประกาศใช้ เมื่อปี ค.ศ.1980 และปรับปรุงอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ.1984 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัย เชื่อมโยงการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น

กฎหมายฉบับนี้ ระบุให้ผู้วิจัยที่รับทุนวิจัยจากงบประมาณของรัฐ สามารถนำงานวิจัยไปจดสิทธิบัตร และขายสิทธิบัตรให้ภาคการผลิตได้ ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในการทำวิจัย และจดสิทธิบัตรของมหาวิทยาลัย รวมถึงการสร้างความร่วมมือด้านสิทธิประโยชน์ระหว่างภาควิชาการกับเอกชนมากขึ้น

กลไกด้านงบประมาณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น มูลนิธิ บริษัท สถาบันวิจัย โรงพยาบาล รวมถึงหน่วยงานอื่นจากต่างประเทศ ฯลฯ

สิ่งที่น่าขบคิดคือ การสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ ล้วนมีทิศทางการสนับสนุนในด้านที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาคุณภาพประชากร เช่น ด้านสาธารณสุข การแพทย์ และวิทยาศาสตร์ และยังได้สะท้อนให้เห็นถึงความความพยายามสร้างความร่วมมือ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในงานวิจัยร่วมกัน

สะท้อนคิดสู่ประเทศไทย ผมเห็นว่า หากรัฐบาลเห็นคุณค่าการพัฒนาประเทศโดยอยู่บนฐานการวิจัย รัฐบาลควรมีวิสัยทัศน์ว่า จะจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัย โดยพิจารณาจากจุดแกร่งของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่มีศักยภาพ เพื่อการผลิตองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ

รวมถึงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจลงทุนด้านการวิจัยมากขึ้น สนับสนุนให้เกิดการวิจัยเชิงพาณิชย์ การให้ความสำคัญกับการจดสิทธิบัตร หรือเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการวิจัยและพัฒนาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจให้เกิดขึ้นจริงได้

ในส่วนของมหาวิทยาลัย ต้องขับเคลื่อนตนเอง เพื่อให้รองรับต่อการพัฒนาไปสู่การสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัย โดยเริ่มต้นจากผู้บริหารจะที่ให้ความสำคัญและการสนับสนุนอย่างจริงจัง มีการพัฒนาระบบการผลิตผลงานวิจัยของคณาอาจารย์และนักวิชาการในมหาวิทยาลัย รวมถึงลดการพึ่งพางบประมาณจากรัฐ โดยหันไปแสวงหาแหล่งทุนสนับสนุนงานวิจัยทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ พัฒนาศักยภาพตนเอง โดยพิจารณาจากจุดแกร่งของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

การวิจัยนับเป็นหัวใจของการพัฒนากำลังคน และการพัฒนาประเทศ ให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน การส่งเสริมให้ทุกภาค โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เป็นสถาบันที่มีศักยภาพ ทั้งทางด้านองค์ความรู้และบุคลากร ให้เห็นคุณค่าการพัฒนาระบบวิจัย สอดคล้องกับความต้องการของสังคม และการพัฒนาประเทศจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญและได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

บทความ ของ ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate) credit by www.kriengsak.com

2 comments:

  1. ผู้บริหารเห็นคุณค่าการทำวิจัย ความมีชื่อเสียงและมีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วโล

    ReplyDelete
  2. กฎหมายฉบับนี้ ระบุให้ผู้วิจัยที่รับทุนวิจัยจากงบประมาณของรัฐ สามารถนำงานวิจัยไปจดสิทธิบัตร และขายสิทธิบัตรให้ภาคการผลิตได้ ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในการทำวิจัย และจดสิทธิบัตรของมหาวิทยาลัย รวมถึงการสร้างความร่วมมือด้านสิทธิประโยชน์ระหว่างภาควิชาการกับเอกชนมากขึ้น

    ReplyDelete