Wednesday, September 28, 2011

ควรเลือกเป้าหมายใด : เงินเฟ้อ หรือจีดีพี?


ควรเลือกเป้าหมายใด : เงินเฟ้อ หรือจีดีพี?

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์  กรุงเทพธุรกิจ   วันพุธที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2549

เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่เงินเฟ้อสูงขึ้นพร้อมกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น การดำเนินนโยบายการเงินการคลังอยู่ในภาวะ "หนีเสือปะจระเข้" กล่าวคือ หากธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ จะทำให้เศรษฐกิจยิ่งชะลอตัวลง แต่หากกระทรวงการคลัง ใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

ปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกมองว่าใช้นโยบายการเงินค่อนข้างเข้มงวด โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้เหตุผลว่า เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อการจัดการมิให้เงินเฟ้อขยายตัวไปมากกว่านี้ ซึ่งจะทำให้แก้ไขได้ยาก

ประเด็นสำคัญของความขัดแย้งเชิงนโยบายนี้ จึงอยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจในการบริหารเศรษฐกิจของชาติ ควรให้ความสำคัญกับเป้าหมายใด

การตอบคำถามดังกล่าว เราจำเป็นต้องพิจารณาบริบทแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ผมขอสรุปว่า การบริหารเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปี 2549 ควรเน้นเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าการควบคุมเงินเฟ้อ

Professor Kriengsak Chareonwongsak
เหตุที่สรุปเช่นนี้เพราะในครึ่งปีหลัง ปัญหาเงินเฟ้อน่าจะรุนแรงน้อยกว่าปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว แม้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2549 จะขยายตัวถึงร้อยละ 6 แต่หน่วยงานเศรษฐกิจของรัฐทุกแห่งกลับคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลงกว่าครึ่งปีแรก ทำให้ทุกสำนักปรับลดเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2549 ลงจากเดิม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อได้รับการคาดการณ์ว่าจะลดลงในครึ่งปีหลัง ทำให้ค่าเฉลี่ยของเงินเฟ้อตลอดทั้งปีต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรก 

เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะได้รับผลกระทบจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2550 ที่ล่าช้า และราคาน้ำมันโลก ซึ่งจากการวิเคราะห์ผลกระทบจากทั้งสองปัจจัยนี้โดยใช้แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium) ผมพบว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะลดลงมากกว่า เพราะได้รับผลกระทบเชิงลบ จากทั้งสองปัจจัยดังกล่าว แต่ทั้งสองปัจจัยนี้จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในลักษณะที่หักล้างกัน ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่เพิ่มขึ้นมากนัก (ตารางที่ 1)

การเลือกตั้งที่ล่าช้าจะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2550 ล่าช้าออกไปอย่างน้อย 3 เดือน หรือหมายความว่าจะไม่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (real GDP growth) ปี 2549 ลดลงร้อยละ 0.41 จากตัวเลขประมาณการเดิม ขณะที่ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 (เป็น 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) จะทำให้จีดีพีลดลงอีกร้อยละ 0.51 เมื่อรวมผลกระทบจากทั้งสองปัจจัยนี้ เศรษฐกิจปี 2549 จะลดลงถึงร้อยละ 0.92

แต่ในกรณีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ การไม่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 จะลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงร้อยละ 0.41 จากตัวเลขประมาณการเดิม ขณะที่ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.58 ดังนั้น ผลกระทบของทั้งสองปัจจัยนี้ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในปี 2549 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.17 จากตัวเลขประมาณการเดิม

ตารางที่ 1 ผลการวิเคราะห์ผลกระทบของการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าและราคาน้ำมัน  ตัวแปร ผลกระทบจาก
การเบิกจ่ายงบล่าช้า
การเบิกจ่ายงบล่าช้า ผลกระทบจาก
ราคาน้ำมันเพิ่มร้อยละ 15
ราคาน้ำมันเพิ่มร้อยละ 15  รวมผลกระทบ
จากทั้งสองปัจจัย
จากทั้งสองปัจจัย อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (%) -0.41 -0.51 -0.92 ดัชนีราคาผู้บริโภค (%) -0.41 0.58 0.17   ที่มา : เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2549)
การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดเกินไป ยังอาจจะไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบัน เป็นเงินเฟ้อจากแรงผลักด้านต้นทุน (cost push inflation) ซึ่งเกิดจากราคาน้ำมันที่เป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจึงไม่ช่วยให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อลดลง ขณะที่ประชาชนและผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในอนาคต เนื่องจากปัญหาทางการเมือง และผลกระทบจากราคาน้ำมัน ส่งผลทำให้ชะลอการบริโภคและการลงทุนชะลอตัวลงอยู่แล้ว ทางการจึงไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว เพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ สถานการณ์ปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะเงินลงทุนระยะสั้นไหลเข้ามาในประเทศไทย และทำให้มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นจำนวนมาก ประเทศไทยจึงไม่จำเป็นมากนักที่ต้องขึ้นดอกเบี้ย เพื่อรักษาเงินลงทุนระยะสั้นจากต่างประเทศ แต่น่าจะยอมให้เงินลงทุนระยะสั้นที่ไหลเข้ามาชะลอตัวลงบ้าง เพื่อไม่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งเกินไป และยังเป็นการกระตุ้นการส่งออกในครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ นโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไปจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง เพราะนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ได้ทำให้หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง หากดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นมากเกินไป จะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน ลดลง จนอาจเกิดปัญหาหนี้เสียตามได้ ผมจึงเห็นด้วยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า จะขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว
บทความ ของ ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate) credit by www.kriengsak.com

No comments:

Post a Comment