ศจ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2547
ตั้งแต่ปลายปี 2546 เศรษฐกิจโดยรวมของไทยขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GPD) ที่สูงถึงร้อยละ 7.8 อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทย การขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มีการขยายตัวกว้างขวาง
ถึงกระนั้นผลพวงจากการเติบโต ทำให้เกิดปรากฏการณ์หลายประการ ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี 2547 จนถึงปี 2548 ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น หนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 82,485 บาท/ครัวเรือน ในปี 2545 เป็น 110,133 บาท/ครัวเรือน ในไตรมาสแรกของปี 2547 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของประชาชนที่จะลดลงในอนาคต
ความเสี่ยงในการเกิดภาวะอุปทานส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการเติบโตอย่างร้อนแรงของการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปลายปี 2546 จนถึงต้นปี 2547 จะทำให้เกิดความไม่สมดุลกันระหว่างปริมาณอสังหาริมทรัพย์ที่เสนอขายในตลาด กับการขยายตัวของกำลังซื้อภาคประชาชนในขณะนี้ ส่งผลให้เกิดอุปทานส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลง
ความวิตกเกี่ยวกับปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ Non-Performing Loans (NPLs) ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกรุงไทย ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 7.78 ในไตรมาสแรกของปี 2547 มาเป็นร้อยละ 12.29 ในไตรมาส 2
ปรากฏการณ์ทั้ง 3 ประการ เมื่อประกอบกับปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในปี 2548 สะท้อนให้เห็นว่าปี 2548 จะเป็นปีที่เต็มด้วยความท้าทายต่อภาคธุรกิจไทยอย่างมาก โดยปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2548 มีดังต่อไปนี้
สถานการณ์ด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จะส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการอาจลดกำลังการผลิตลงในปี 2548
อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น เป็นผลจากระดับราคาน้ำมันที่กดดันให้สินค้าภายในประเทศมีราคาสูงขึ้น และทิศทางอัตราเงินเฟ้อโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลทำให้ประชาชนอาจต้องแบกรับภาระด้านค่าใช้จ่ายในปี 2548 มากขึ้น
Professor Kriengsak Chareonwongsak |
อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง เป็นผลจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ และภาวะการซบเซาลงของตลาดทุนในประเทศไทย ส่งผลทำให้สินค้าทุนที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้น
อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากแรงกดดันของอัตราแลกเปลี่ยนที่เริ่มอ่อนค่าลง รวมทั้งระดับเงินเฟ้อและหนี้สินภาคครัวเรือนที่กำลังสูงขึ้น ส่งผลให้ในปี 2548 ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
จากปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยอาจไม่สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 8 ดังที่ตั้งเป้าไว้ในช่วงต้นปี และมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปลายปีนี้ อาจเติบโตได้ร้อยละ 6.8-7.8 เท่านั้น ส่วนปี 2548 คาดว่าจะขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 6-7.5 ซึ่งลดลงจากปี 2547 นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น
ภาคธุรกิจของไทยในปี 2548 อาจต้องประสบกับความท้าทายอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่
การแข่งขันของอุตสาหกรรมต่างๆ จะรุนแรงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตมีการผลิตสินค้าออกสู่ตลาดมากขึ้น ในขณะที่อำนาจซื้อลดลงและภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้น อีกทั้งการที่ประเทศไทยเปิดเสรีการค้ามากขึ้น ทำให้ในปี 2548 ผู้ผลิตอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นได้
ต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาน้ำมัน การขนส่งและวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศจะได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมเซรามิค อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป จากทั้งปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจและความท้าทายที่มีต่อภาคธุรกิจในปี 2548 ทำให้ปีที่จะมาถึงนี้ อาจไม่ใช่ปีที่สดใสมากนัก แต่ถึงกระนั้นเศรษฐกิจไทยโดยรวมอาจจะไม่ซบเซาจนเกินไป เพราะพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี ปี 2548 จึงอาจเป็นปีที่เต็มด้วยการแข่งขันและความท้าทายต่อนักธุรกิจและผู้กำหนดนโยบาย ที่จะต้องนำพาองค์กรและประเทศให้ประสบความสำเร็จตามที่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้
++++++++
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ รองประธานคณะทำงานการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ kriengsak@kriengsak.com
บทความ ของ ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate) credit by www.kriengsak.com
No comments:
Post a Comment