ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2548
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่าจะนำมาใช้ได้ในรัฐบาลสมัยหน้า มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้มีการจัดตั้ง เขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น ซึ่งจะต้องยกเลิก พ.ร.บ.การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทั้งฉบับ นิคมต่างๆ ในปัจจุบันจะเปลี่ยนสถานะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
โดยคาดว่า จะดำเนินการในบริเวณเกาะช้าง เกาะพีพี ภูเก็ต พังงา เมืองใหม่นครนายก เชียงราย แม่สอด ตาก โดยแต่ละพื้นที่จะมีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเฉพาะในพื้นที่ เพราะมีวัตถุประสงค์เฉพาะที่ต่างกัน เช่น ด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การบริการ และการท่องเที่ยว แต่ละเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีผู้ว่าการมืออาชีพที่เข้ามาทำงานโดยสัญญาจ้างที่มีวาระ 4 ปี และมีสำนักงานกลางบริหารพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นองค์กรมหาชนเป็นผู้ดูแล ซึ่งจะให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ one stop service
Professor Kriengsak Chareonwongsak |
เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การพัฒนาพื้นที่เฉพาะสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และความต้องการของประชาชน และเพื่อให้การพัฒนาระบบบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น ซึ่งโดยหลักการอาจจะดี แต่โดยวิธีการแล้วไม่อาจทำให้การบริหารบ้านเมืองมีประสิทธิภาพดีขึ้น
เนื่องจาก การผ่อนผันกฎหมายบางอย่างอาจสร้างปัญหาต่อบ้านเมืองส่วนรวม
พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะออกมานี้ อาจจะสร้างปัญหาต่อบ้านเมืองได้ เพราะมีการผ่อนผันยกเว้นการใช้กฎหมายหลายประการ เช่น การจ้างแรงงานต่างด้าวเกินกำหนดได้ ซึ่งทำให้ท้องถิ่นต้องรับภาระเพิ่มขึ้นในการจัดการแรงงานต่างด้าวที่อาจจะสร้างปัญหา
นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.ยังอนุญาตให้ต่างชาติสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ และสามารถเช่าที่ดินยาวนานถึง 99 ปี ทั้งๆ ที่ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ไม่มีที่ดินทำกินแต่รัฐกลับอนุญาตให้ต่างชาติที่ครอบครองและมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ก่อน รวมถึงเรื่องการส่งเงินออกนอกประเทศของบริษัทข้ามชาติที่ยังไม่ข้อกำหนดหรือการควบคุมแต่อย่างใด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท และเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ หากบริษัทเหล่านี้นำเงินออกนอกประเทศจำนวนมากในเวลาอันสั้น เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540
การบริหารงานรวมศูนย์อำนาจ ท้องถิ่นขาดการมีส่วนร่วมตัดสินใจ ตาม พ.ร.บ.จะกำหนดให้เขตเศรษฐกิจพิเศษมีสถานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งบริหารโดยผู้ว่าการมืออาชีพที่เข้ามาทำงานโดยสัญญาจ้างที่มีวาระ 4 ปี โดยอำนาจการตัดสินใจจะเป็นของผู้บริหารคนนี้ ซึ่งประชาชนไม่มีโอกาสได้มีส่วนในการตัดสินใจ ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิของประชาชน เนื่องจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นได้
การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นสิ่งที่กระตุ้นการค้าและการลงทุน ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าจะทำต้องทำด้วยความรอบคอบ การเร่งรีบเกินไปอาจเป็นการสร้างปัญหามากกว่า และทำให้ประชาชนเดือดร้อนโดยไม่จำเป็น
บทความ ของ ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate)
credit by www.kriengsak.com
No comments:
Post a Comment