Sunday, September 18, 2011

Professor Kriengsak Chareonwongsak Eco Car


อีโคคาร์ช่วยประเทศ ประหยัดพลังงานจริงหรือ?

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์  กรุงเทพธุรกิจ  วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550

จากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวลง เนื่องจากการบริโภคภาคประชาชนและการลงทุนชะลอตัวลง รัฐบาลจึงต้องแสวงหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ มาตรการหนึ่งที่มีการกล่าวถึง คือ โครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานตามมาตรฐานสากล หรือ "อีโคคาร์" ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อว่า เป็นโครงการที่สามารถดึงการลงทุนเข้ามาได้ และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในอีกทางหนึ่ง มาตรการนี้จึงกำลังจะถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อหาข้อสรุปในวันที่ 5 มิถุนายนนี้

สำหรับแนวคิดการสนับสนุนการผลิตอีโคคาร์นั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันแนวคิดนี้ เนื่องจากไม่สามารถหาข้อสรุปในประเด็นสำคัญๆ คือ การกำหนดคุณสมบัติของอีโคคาร์ และการลดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของอีโคคาร์

การหาข้อสรุปดังกล่าว ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องพิจารณาผลประโยชน์และผลกระทบหลายด้าน อาทิเช่น การดึงดูดการลงทุน การพัฒนาการผลิตรถยนต์เล็กเพื่อการส่งออก การลดการใช้พลังงาน การลดมลภาวะ การลดลงของรายได้ภาครัฐ ผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ประเภทอื่น ฯลฯ

สำหรับบทความนี้จะขอพิจารณาเฉพาะประเด็นที่ว่า อีโคคาร์จะช่วยให้ประเทศประหยัดพลังงานได้จริงหรือไม่ ซึ่งการตอบคำถามนี้ จะใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ คือ ผลของรายได้ (income effect) และผลของการทดแทน (substitution effect)

การส่งเสริมการผลิตอีโคคาร์ อาจจะทำให้การใช้พลังงานลดลงจากแนวโน้มที่ควรจะเป็นหรือไม่ก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับว่า ผลของรายได้และผลของการทดแทน ผลด้านใดจะมากกว่ากัน

หากวิเคราะห์ โดยการจำแนกผู้ซื้อรถยนต์ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์มือหนึ่ง กลุ่มที่ 2 ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์มือสอง และกลุ่มที่ 3 ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ แม้จะมีรายได้เพียงพอในการซื้อรถยนต์มือหนึ่งหรือรถมือสอง

บุคคลสองกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะซื้อรถยนต์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีการผลิตอีโคคาร์หรือไม่ แต่บุคคลกลุ่มที่สามเป็นกลุ่มที่ไม่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ แต่อาจเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจได้ หากมีการผลิตอีโคคาร์
Professor Kriengsak Chareonwongsak


ผลของการทดแทน หมายถึง ความแตกต่างของพลังงานที่ใช้ในรถยนต์ หากคนบางส่วนในกลุ่มที่ 1 และ 2 หันมาซื้ออีโคคาร์ แทนการซื้อรถยนต์มือหนึ่งและรถมือสอง สมมติว่า หากไม่มีอีโคคาร์ คนส่วนหนึ่งในสองกลุ่มแรกซื้อรถยนต์แบบเดิม และใช้พลังงานในการขับขี่รถยนต์รวมกันเท่ากับ X หน่วย แต่หากมีอีโคคาร์ เขาเหล่านั้นจะซื้ออีโคคาร์ และใช้พลังงานในการขับขี่อีโคคาร์รวมกันเท่ากับ Y หน่วย ความแตกต่างของการใช้พลังงานจึงเท่ากับ X-Y ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้พลังงานลดลง

สำหรับผลของรายได้ หมายถึง พลังงานที่ใช้ในอีโคคาร์ ซึ่งบุคคลกลุ่มที่ 3 ตัดสินใจซื้อ เนื่องจากอีโคคาร์ที่มีราคาถูก อาจทำให้ผู้บริโภคกลุ่มที่ 3 ที่มีรายได้เพียงพอ แต่ไม่คิดจะซื้อรถยนต์ หันมาตัดสินใจซื้ออีโคคาร์ ซึ่งจะทำให้การบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้น โดยสมมติว่าการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นนี้เท่ากับ Z หน่วย

หากการส่งเสริมของภาครัฐ ทำให้ผลของการทดแทน (X-Y) มากกว่า ผลของรายได้ (Z) แสดงว่า การสนับสนุนการผลิตอีโคคาร์ประสบความสำเร็จในการลดการใช้พลังงาน แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้าม หมายความว่า มาตรการนี้ล้มเหลวในการลดการใช้พลังงาน

ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นจากพฤติกรรมการซื้อรถยนต์ของประชาชน หากรัฐบาลลดอัตราภาษีสรรพสามิตอีโคคาร์ จะทำให้คนทั้งสามกลุ่มหันมาซื้ออีโคคาร์มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของบริษัท นาโน เซิร์ช จำกัด ที่พบว่า คนตัดสินใจซื้อรถโดยให้ความสำคัญกับเรื่องการประหยัดพลังงานเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 13.5 และพิจารณาจากราคาซื้อ ขาย เป็นอันดับ 3 ร้อยละ 8.5

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการซื้อรถยนต์ของคนไทยเป็นไปเพื่อความมีหน้ามีตาในสังคมด้วย ดังนั้น หากรัฐบาลลดอัตราภาษีน้อยเกินไป จะทำให้ราคาอีโคคาร์ไม่จูงใจให้คนสองกลุ่มแรกหันมาใช้อีโคคาร์ ในทำนองเดียวกัน หากรัฐบาลลดอัตราภาษีมากเกินไป จนทำให้ราคาของอีโคคาร์ถูกมากเกินไป อาจจะทำให้คนสองกลุ่มแรก ไม่ต้องการซื้ออีโคคาร์ก็เป็นได้ เพราะมองว่าเป็นสินค้าด้อย (inferior goods) แต่อาจจะทำให้คนกลุ่มที่สามซื้ออีโคคาร์มากขึ้น เพราะให้ความสำคัญกับราคามากกว่าความมีหน้ามีตาในสังคม

ด้วยเหตุนี้ อัตราภาษีสรรพสามิตของอีโคคาร์ควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพื่อทำให้เกิดผลของการทดแทนมากกว่าผลของรายได้ และทำให้การใช้พลังงานโดยรวมในรถยนต์ลดลงมากที่สุด

นอกจากนี้ หากรัฐบาลต้องการสนับสนุนอีโคคาร์ เพื่อลดการใช้พลังงานเป็นสำคัญ รัฐบาลอาจจะกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดผลของการทดแทนมากขึ้น โดยไม่เพิ่มผลของรายได้ เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมโอนรถมือสองในอัตราสูงขึ้น การเพิ่มค่าธรรมเนียมการต่อทะเบียนรถเก่า การเพิ่มภาษีสิ่งแวดล้อมจากการใช้น้ำมัน เป็นต้น เพื่อทำให้ผู้ที่จะซื้อรถยนต์มือหนึ่งและมือสองหันมาใช้อีโคคาร์มากขึ้น

ถึงกระนั้น การกำหนดมาตรการเกี่ยวกับอีโคคาร์ รัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ และผลกระทบหลายด้านดังกล่าวข้างต้น ซึ่งอาจใช้กรอบแนวคิดผลของรายได้ และผลของการทดแทนในการวิเคราะห์ได้เช่นเดียวกัน แต่การพิจารณาผลของมาตรการนี้มีความซับซ้อนมาก รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อการกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสม มิใช่การกำหนดด้วยการต่อรองของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ


บทความจาก ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate)

1 comment:

  1. สำหรับผลของรายได้ หมายถึง พลังงานที่ใช้ในอีโคคาร์ ซึ่งบุคคลกลุ่มที่ 3 ตัดสินใจซื้อ เนื่องจากอีโคคาร์ที่มีราคาถูก อาจทำให้ผู้บริโภคกลุ่มที่ 3 ที่มีรายได้เพียงพ

    ReplyDelete