คนไทยมีความสุขน้อยลง
ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2549
แนวคิดการพัฒนาประเทศของไทยในปัจจุบัน กำลังเกิดกระแสความไม่เห็นด้วย กับการเน้นเป้าหมาย การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพียงเป้าหมายเดียว และมีความพยายามที่จะเสนอให้เปลี่ยนเป้าหมายการพัฒนา ไปสู่การเน้นความสุขของประชาชนในประเทศ หรือความสุขโดยรวมของประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH)
Professor Kriengsak Chareonwongsak |
ในความเป็นจริง ผมมีความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาดัชนีชี้วัดความสุขมาเป็นเวลานานแล้ว และที่ผ่านมา ผมได้ทำการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาชุดดัชนีชี้วัดความสุขของประเทศไทย” ซึ่งเป็นงานวิจัยตามหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชนรุ่นที่ 5 ของสถาบันพระปกเกล้า
ผมได้ทำการพัฒนาดัชนีความสุข (Happiness Index) โดยหาความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน เป็นต้น กับความสุขของประชากรไทย เพื่อจะนำไปสู่การบริหารประเทศ ที่มุ่งความสุขของประชากรโดยตรง
ดัชนีความสุขนี้พัฒนาขึ้นจากแบบจำลอง (Model) ทางเศรษฐศาสตร์ และใช้ฐานข้อมูลจากการสำรวจค่านิยมของคนในโลก (World Values Survey) มากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก ที่จัดทำโดย International Network of Social Scientists ซึ่งทำการสำรวจมาแล้วจำนวน 4 ครั้ง
ผลการศึกษาพบว่า ภาวะความขัดแย้งทางการเมืองและราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นในปัจจุบัน เป็นเหตุทำให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2549 คนไทยประมาณ 1.3 ล้านคน หรือ ร้อยละ 2.1 ที่เคยมีความสุขมาก กลับมีความสุขลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน ขณะที่คนไทยที่ค่อนข้างมีความสุขมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ส่วนคนที่ไม่ค่อยมีความสุข และคนที่ไม่มีความสุขเลยมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.87 (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 การกระจายประชากรไทยตามช่วงระดับความสุขต่างๆ (ร้อยละ)
ระดับความสุข
2548
2549
Q1 Q2 Q3 Q4 Q1
ไม่มีความสุขเลย 0.62 0.61 0.70 0.78 0.73
ไม่ค่อยมีความสุข 7.70 7.61 8.23 8.82 8.46
ค่อนข้างมีความสุข 53.17 53.03 54.02 54.88 54.37
มีความสุขมาก 38.51 38.75 37.06 35.52 36.44
รวม 100.00 100.00 100.00 100.00 100.00
ผลการศึกษายังพบอีกว่า ตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อระดับความสุขของคนแบ่งออกเป็นตัวแปรด้านจุลภาคและมหภาค ในกลุ่มตัวแปรจุลภาคที่ประกอบด้วย เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา การมีงานทำและระดับรายได้ เพศหญิงมีความสุขมากกว่าชาย, คนที่มีความสุขน้อยที่สุดอยู่ที่อายุประมาณ 52 ปี, คนที่อยู่ด้วยกัน หรือคู่แต่งงาน มีความสุขมากกว่าคนที่เป็นโสด และหย่าร้างตามลำดับ, และระดับการศึกษา และระดับรายได้ยิ่งสูง ยิ่งทำให้คนมีความสุขมากขึ้น
สำหรับตัวแปรมหภาคที่มีอิทธิพลต่อระดับความสุขของคน คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจสัมพันธ์ทางบวกกับระดับความสุข ในขณะที่อัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อสัมพันธ์ทางลบ กับระดับความสุข ยิ่งไปกว่านั้น ผมยังพบว่าอัตราเงินเฟ้อมีอิทธิพลต่อความสุขมากที่สุด รองลงมาได้แก่ อัตราการว่างงานและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจตามลำดับ
ที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้สนใจเฉพาะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีเพียงเป้าหมายเดียวเท่านั้น แต่แนวทางการพัฒนาดังกล่าว ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีความสุขอย่างแท้จริง จากงานวิจัยชิ้นนี้ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ปัญหาวิกฤติทางการเมือง และทบทวนเป้าหมายการพัฒนาประเทศโดยมุ่งเน้นเป้าหมายต่างๆ อย่างสมดุล โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้คนไทยมีระดับความสุขมากขึ้น
บทความ ของ ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate) credit by www.kriengsak.com