Thursday, September 23, 2010

Prof Kriengsak Chareonwognsak comment R&D in Harvard

ฮาร์วาร์ดกับงานวิจัยและวิชาการด้านจีนศึกษา

ที่ผ่านมา นอกจากฮาร์วาร์ดจะมุ่งดำเนินนโยบายโดยให้ความสำคัญกับการทำงานแบบสหวิทยาการร่วมกันระหว่างคณะ วิทยาลัย และหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยแล้ว ฮาร์วาร์ดยังได้ขยายพรมแดนความร่วมมือดังกล่าวนี้ไปยังมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในต่างแดน ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงความร่วมมือกับประเทศจีน มีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการทำวิจัยและการเรียนการสอนแบบสหวิทยาการในประเด็นเกี่ยวกับประเทศจีนร่วมกัน รวมทั้ง เพื่อเป็นแนวทางที่จะช่วยพัฒนาให้ความสัมพันธ์และความร่วมมือที่มีระหว่างคณาจารย์และนักศึกษาฮาร์วาร์ดกับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยในจีน ให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นอีกด้วย



กลไกหลักที่ฮาร์วาร์ดใช้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้คือ การจัดตั้งกองทุนจีนและฮาร์วาร์ด (Harvard China Fund) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2006 เพื่อสนับสนุนทางด้านงบประมาณเป็นประจำทุกปีกับคณาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่สนใจทำวิจัยหรือโครงการที่เกี่ยวกับจีน เงื่อนไขการขอรับทุนสนับสนุนคือ การให้คณาจารย์และนักศึกษาที่มีความสนใจจะต้องนำเสนอหัวข้องานวิจัยหรือโครงการให้คณะกรรมการที่ปรึกษาของกองทุนเป็นผู้พิจารณาคัดเลือก โดยแต่ละหัวข้อหรือแต่ละโครงการจะได้รับเงินสนับสนุนอยู่ในช่วงระหว่าง 100,000 – 200,000 เหรียญสหรัฐฯ
ตัวอย่างหัวข้อวิจัยหรือโครงการที่ได้รับการคัดเลือกประจำปีงบประมาณ 2010 ได้แก่
โครงการ “จากการล่าสัตว์และการรวมตัวกันสู่วิถีชีวิตชุมชนหมู่บ้านในยุคแรก – การวิจัยและการเรียนการสอนในประเทศจีน” (From Hunting and Gathering to Early Village Lifeways – Research & Teaching in China”) โครงการนี้ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 2 ปี เพื่อที่จะเขียนหนังสือ 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษและภาษาจีน เกี่ยวกับเทคโนโลยีการทำเครื่องมือหิน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง การเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนทางด้านโบราณาคดีและการศึกษาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัยปักกิ่งจำนวนทั้งสิ้น 2 หลักสูตร รวมทั้ง การขุดค้นหาวัตถุโบราณในสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของชุมชนหมู่บ้านในยุคแรกร่วมกันระหว่างสถาบันโบราณคดีและอนุสรณ์สถานทางวัฒนธรรมแห่งมลฑลหูหนาน (Institute of Archaeology and Cultural Relics of Hunan Province) มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
การพัฒนาหลักสูตรภาคฤดูหนาวเกี่ยวกับการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศจีน (Developing a Winter session Course on China’s Health System Reforms) โครงการนี้จะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาคฤดูหนาวเกี่ยวกับการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศจีนในฮาร์วาร์ด โดยหลักสูตรดังกล่าวจะประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ การจัดสัมมนาเบื้องต้นที่
ฮาร์วาร์ด การศึกษาภาคสนาม โดยการเข้าร่วมการประชุมสัมมนาทางด้านนโยบายและการปฏิสัมพันธ์กับผู้กำหนดนโยบายสุขภาพของประเทศจีน ซึ่งจะใช้เวลาทั้งหมด 3 สัปดาห์สุดท้ายคือ การให้นักศึกษาแต่ละคนเขียนผลงานวิจัยเกี่ยวกับประสบการณ์ภาคสนามของตนเองอย่างสั้น ๆ และจัดให้มีการประชุมสัมมนา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
การผลิตจดหมายเหตุดิจิตอลทางด้านประวัติศาสต์ท้องถิ่นจีน (A Digital Archive for Chinese Local History) ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ ประกอบไปด้วย 3 ส่วนใหญ่ ๆ ด้วยกัน ได้แก่ การผลิตผลงานวิจัยใหม่เกี่ยวกับศาสนา วัฒนธรรม และสภาพบริบทสังคมของมณฑลหูหนาน ตั้งแต่สมัยราชวงค์ชิงจนกระทั่งถึงปัจจุบัน การเป็นผู้นำของโลกทางด้านการผลิตจดหมายเหตุดิจิตอลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจีน และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของนักวิชาการร่วมกัน
ประยุกต์สู่ประเทศไทย
การสร้างความร่วมมือในการวิจัยและศึกษาในประเด็นลงลึกเกี่ยวกับประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังตัวอย่างเช่นที่ฮาร์วาร์ดทำโครงการตกลงความร่วมมือกับประเทศจีน เป็นความร่วมมือที่น่าสนใจ เพราะจะทำให้สามารถศึกษาประเด็นนั้นได้ในเชิงลึก และนำสู่การพัฒนาขยายผลโครงการสู่การสร้างประโยชน์ในภาพรวมได้
ฮาร์วาร์ดได้สร้างความร่วมมือในลักษณะคล้ายกันเนื่องจากฮาร์วาร์ดมีความสนใจศึกษาเกี่ยวกับประเทศในแถบเอเชีย โดยได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาเฉพาะทางคือ ศูนย์เอเชีย แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University Asia Center) โดยมีการศึกษาลงลึกจริงจังเพียงไม่กี่ประเทศอันได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ฯลฯ แต่ยังไม่มีการศึกษาลงลึกในส่วนของประเทศไทยในด้านใดเลย
ผมจึงเกิดความคิดและความตั้งใจว่า ต้องการเห็น “ศูนย์ไทยคดีศึกษา” (Center of Thai Studies) ที่ฮาร์วาร์ด โดยเสนอแนวคิดนี้แก่ ศาสตราจารย์ไมเคิล เฮอร์ซเฟลด์ (Prof. Michael Herzfeld) และศาสตราจารย์ เจย์ โรเซนการ์ด (Prof. Jay Rosengard) ซึ่งทั้งสองท่านมีความสนใจประเทศไทยอย่างมาก เราจึงได้เสนอเรื่องนี้ให้กับศูนย์เอเชียแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หลังจากนั้นฮาร์วาร์ด ได้แต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์เอเชียเพื่อไทยศึกษา (The Asia Center Committee on Thai Programs) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยศาสตราจารย์เจย์ โรเซนการ์ด ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการ และผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการฯ
การเกิดขึ้นของศูนย์ไทยศึกษาในฮาร์วาร์ด จะเป็นช่องทางพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการและประสานความร่วมมือกันระหว่างนักวิชาการไทยและนักวิชาการจากทั่วโลกที่สนใจศึกษาเรื่องเมืองไทย ที่สำคัญงานวิจัยเรื่องต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากศูนย์ศึกษาแห่งนี้ จะสะท้อนกลับมายังไทยที่จะก่อคุณูปการแก่ประเทศไทย ผมจึงเห็นว่า หากมหาวิทยาลัยของประเทศไทยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้มากเท่าใดในการทำการศึกษาวิจัย และจัดตั้งศูนย์การศึกษาวิจัยแลกเปลี่ยนกัน จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย ไม่เพียงในด้านการศึกษาเท่านั้น แต่ด้านองค์ความรู้เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านการค้าขายและธุรกิจ ตลอดจนด้านการพัฒนาประเทศด้วย


ศ.ดร เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

No comments:

Post a Comment