ที่มาของภาพ http://www.socpa.com/content_images/mother's%20day.gif ข่าวเล็ก ๆ ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2551 ระบุว่า โรงเรียนบางแห่งอาจงดจัดงานวันพ่อ - วันแม่ สาเหตุเพราะปัจจุบันมีเด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวแตกแยกสูงถึงร้อยละ 70 ของนักเรียนทั้งโรงเรียน ครูจึงเกิดความสงสารเกรงว่า เด็กสะเทือนใจ เกิดการเปรียบเทียบกับคนอื่น เมื่อมีการจัดงานไม่มีพ่อหรือแม่มาร่วม การ ตัดสินใจ "งด" จัดงานในวันสำคัญดังกล่าว แม้มุมหนึ่งจะเกิดผลดีต่อเด็กนักเรียนที่พ่อแม่หย่าร้าง แต่ในความเป็นจริง ผมคิดว่า ไม่จำเป็นต้องงดจัดงานนี้ แต่ควรปรับเปลี่ยนใหม่ให้เหมาะสม ทั้งนี้เพราะวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันพ่อ–วันแม่ เป็นการตอกย้ำให้เด็ก ๆ เห็นคุณค่าของผู้ที่เลี้ยงดูตนมา เป็นเวทีให้ครอบครัวมีโอกาสแสดงออกถึงความรัก เอื้ออาทรต่อกัน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมจิตสำนึกเรื่องความกตัญญูรู้คุณ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่โรงเรียนควรจัดต่อไป ด้วยเหตุนี้ ผมเห็นว่า การจัดงานในโรงเรียนเนื่องในวันสำคัญของชาตินี้ อาจปรับเปลี่ยน คำที่ใช้เรียกชื่องาน เช่น "งานวันผู้มีพระคุณ", "งานตอบแทนพระคุณ" ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป และยังรักษาวัตถุประสงค์เดิมของการก่อตั้งวันสำคัญนี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเด็กทุกคนย่อมมีผู้ปกครอง ผู้อุปการะเลี้ยงดูนอกเหนือจากพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็น ปู่-ย่า ตา-ยาย ฯลฯ หรือบุคคลที่เป็นญาติรับเลี้ยงดู อุปการะเด็กเสมือนหนึ่งเป็นพ่อแม่ บุคคลเหล่านี้ย่อมเป็นผู้มีพระคุณสำหรับ เด็กเช่นเดียวกัน การ ปรับเปลี่ยนชื่องานเป็น "งานวันผู้มีพระคุณ" แทน วันพ่อ วันแม่ ย่อมลดความรู้สึกบีบคั้นในใจเด็กและเป็นการเปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมให้เด็ก ๆ ทุกคน สามารถเชิญผู้ปกครองมาร่วมงานเพื่อแสดงความรักความกตัญญูได้เช่นกัน และหาก โรงเรียนจัดงานวันแม่ ก็ไม่ควรจำกัดที่จะให้ "แม่" ตามฝ่ายธรรมชาติมาเท่านั้น แต่บุคคลที่ทำหน้าที่เช่น แม่ของเด็กสามารถมาร่วมได้ ข้อเสนอข้างต้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่สิ่งสำคัญที่สังคมต้องขบคิดร่วมกันคือ การส่งเสริมสถาบันครอบครัวไทยให้เข้มแข็ง ผมได้นำเสนอแนวคิดการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ในหนังสือ "ปฏิรูปครบวงจร: สู่ยุคเรืองรองของเมืองไทย" ผ่านการพัฒนาคนให้เห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว รู้จักบทบาทของตนเอง โดยการจัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวเข้มแข็ง จัดทำหลักสูตรครอบครัวศึกษาเพื่อประชาชน ส่งเสริมครอบครัวตัวอย่าง เชิดชูเกียรติให้คู่สมรสที่แต่งงานอยู่ร่วมกันยาวนานโดยไม่หย่าร้าง ส่งเสริมการแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีของสามี ให้เลิกใช้ความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงสนับสนุนการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ทุกคนในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ สถาบัน ครอบครัวนับว่าเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจและคิดค้นวิธีที่เป็นรูปธรรม ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้เป็นสถาบันที่สำคัญในการสร้างบุคลากรที่เข้มแข็งแก่สังคมต่อไป |
บทความ ของ ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate)
credit by www.oknation.com/kriengsak
good one!
ReplyDelete