Thursday, August 26, 2010

Professor kriengsak chareonwongsak : social entrepreneur

Professor Kriengsak Chareonwongsak idea about Social Entrepreneur


สังคมในยุคปัจจุบันประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมหลากหลายประการ ทั้งปัญหาในระดับบุคคล เช่น ปัญหาการว่างงาน ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ปัญหาการกระทำทารุณเด็ก การแพร่ระบาดของยาเสพติด การเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ หรือปัญหาในระดับสังคม เช่น ความยากจน การขาดการศึกษาระดับพื้นฐาน การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ เป็นต้น

ที่ผ่านมา มีความพยายามจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ช่วยกันดำเนินการเพื่อการแก้ไข ปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้น ต่างพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา แต่ หากวิเคราะห์ลงในรายละเอียดแล้วจะพบว่า ความพยายามในการแก้ไขปัญหาของแต่ละภาคส่วน มีจุดแข็งและมีข้อจำกัดในตัวเอง ซึ่งล้วนแต่ส่งผลทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาไม่อาจเกิดประสิทธิผลได้อย่างเต็มที่

ภาครัฐ มีจุดแข็งในแง่ของเครือข่ายของส่วนราชการ ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทรัพยากรบุคลากรที่มีจำนวนมากมายกระจายทั่วประเทศ รวมทั้งงบประมาณที่ต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกัน เราพบว่ารัฐบาลหรือส่วนราชการยังประสบปัญหาการขาดความคล่องตัวในการดำเนินการด้วยข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบ การขาดความต่อเนื่องในนโยบาย เนื่องจากการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลและการเปลี่ยนรัฐบาล และการเน้นแก้ปัญหาในจุดที่มีผลต่อฐานคะแนนเสียงและประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าการแก้ปัญหาที่แท้จริงของสังคม

ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจ ที่มีจุดแข็งในแง่ของความคล่องตัวในการดำเนินการที่ไม่ถูกจำกัดด้วยกฎระเบียบที่เคร่งครัด เช่น ราชการ การปรับเปลี่ยนตัวที่รวดเร็ว การมีทรัพยากรที่ต่อเนื่องตามผลประกอบการขององค์กร ความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ แต่ขณะเดียวกัน แม้ว่าปัจจุบันจะมีหน่วยงานธุรกิจจำนวนมาก ที่เริ่มหันมาให้ความสนใจกับกิจกรรม ที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาคธุรกิจเองยังมีข้อจำกัดในการทำหน้าที่เป็นตัวแสดงหลัก ที่จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคม เนื่องจากเป้าหมายหลักของการทำธุรกิจ คือ ความอยู่รอดทางธุรกิจมากกว่าการมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมอย่างเจาะจง ภาคธุรกิจจะไม่สนใจอยากมีส่วนช่วยเหลือสังคม หากกิจการของตนเองยังไม่สามารถอยู่รอดได้

ยิ่งกว่านั้น จุดหมายสูงสุดของธุรกิจคือ การสร้างผลประกอบการที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าแก่ผู้ลงทุน ไม่ใช่การมุ่งเพิ่มสวัสดิการสูงสุด ให้กับสังคม ความรับผิดชอบที่แท้จริงของกิจการธุรกิจจึงอยู่ที่พันธะต่อผู้เป็นเจ้าของและผู้ถือหุ้น หาใช่พันธะความรับผิดชอบต่อสังคมไม่

ในส่วนของภาคองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งมักถูกนับว่าเป็นภาคที่สาม มีจุดแข็งอยู่ที่ประสบการณ์ในการทำงาน ที่เข้าถึงประชาชนได้ใกล้ชิด เกาะติดในพื้นที่ และมีความคล่องตัวในการดำเนินการ ไม่ติดกับกฎระเบียบ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการสามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้มีปัญหา และจัดการกับสภาพปัญหาได้จริง แต่ภาคที่สามนี้ก็มีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ เรื่องเงินทุน ที่ไม่มีแหล่งรายได้ประจำ องค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมาก ต้องขอเงินสนับสนุนจากแหล่งทุนต่างๆ ซึ่งมักจะต้องทำตามวาระที่กำหนดมาตามความต้องการของผู้ให้ทุน ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างอิสระตามรูปแบบและแนวทางของตนเอง ในขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมาก จัดตั้งขึ้นในลักษณะของอาสาสมัคร แต่ขาดความเป็นมืออาชีพในการบริหารโครงการหรือการติดตามการใช้จ่ายเงิน รวมถึงขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะภาครัฐมีความหวาดระแวงการดำเนินงานของภาคส่วนดังกล่าว ว่าอาจจะต่อต้านการทำงานของภาครัฐจากจุดแข็ง และจุดอ่อนของภาคส่วนต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หากมีการนำจุดแข็งในแต่ภาคส่วน มาใช้ผสมผสานกันอย่างกลมกล่อม น่าจะช่วยให้ได้แนวทางใหม่ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคม ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Dr.kriengsak ได้พบว่ามีแนวคิดหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมในระดับนานาชาติ เป็นแนวคิดที่ได้ผสานจุดแข็งของแต่ละภาคส่วนมาใช้ นั่นคือ แนวคิดเรื่อง "การประกอบการเพื่อสังคม" (Social Entrepreneurship) แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์การขยายตัวของภาคส่วนใหม่ในสังคม ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมไทย

แนวคิดเบื้องต้นของ การประกอบการเพื่อสังคม คือ เป็นกิจการที่ริเริ่มโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีเป้าหมายเพื่อสังคมโดยตรง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่ได้สนใจเรื่องของการมุ่งหวังให้ได้กำไรหรือผลตอบแทนสูงสุด ความสนใจของคนเหล่านี้ ไปไกลกว่าการแสวงหาความมั่งคั่งเพื่อตนเอง แต่เป็นการมุ่งเข้าไปมีส่วน หรือมีบทบาทในการช่วยเหลือ หรือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมในประเด็นที่สนใจเป็นสำคัญ เป็นความปรารถนาที่จะเห็นสังคมถูกพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ผ่านกิจการที่คนเหล่านี้ดำเนินการ

กิจการที่ทำอาจจะเป็นกิจการที่สร้างรายได้หรือไม่สร้างรายได้ก็ได้ จะมีกำไรหรือไม่มีกำไรก็ได้ แต่ต้องเป็นกิจการที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ สามารถสร้างรายได้เพียงพอที่จะสนับสนุนการดำเนินกิจการนั้นต่อไป แต่หากมีกำไรก็เป็นกำไรในระดับที่เพียงพอให้มีรายได้หมุนเวียนสนับสนุนกิจการให้ดำเนินต่อไปได้ หรืออาจจะเอากำไรส่วนเกินไปใช้ เพื่อสร้างกิจการเพื่อสังคมกิจการใหม่ได้ หากทำเป็นธุรกิจ ก็ใช้ธุรกิจของตนเป็นเครื่องมือหาแหล่งเงินทุน เพื่อสนับสนุนความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่ตนเองสนใจ
ด้วยวิธีนี้ทำให้การดำเนินกิจกรรมแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคม สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน เพราะไม่ขาดแคลนแหล่งทุนสนับสนุน เหมือนบางองค์กรที่แม้มีความตั้งใจดี แต่ขาดกำลังทรัพย์สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภารกิจขององค์กรไม่บรรลุผลอย่างที่ควรจะเป็น

แต่ในอีกทางหนึ่ง หากจะเป็นกิจการที่ไม่ได้สร้างรายได้โดยตรงจากตัวกิจการนั้น ผู้ประกอบการเพื่อสังคมก็มีแนวทาง หรือช่องทางอื่นในการระดมทรัพยากร เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่จำเป็นต้องการดำเนินการกิจการ อย่างเพียงพอที่จะทำให้กิจการดำเนินต่อเนื่องได้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรด้านเงินทุน บุคลากร หรือเทคโนโลยีที่จำเป็น ผู้ประกอบการเหล่านี้มักมีความสามารถในการบริหารจัดการกิจการของตนเองอย่างมืออาชีพ

ลักษณะของผู้ประกอบการเพื่อสังคม จึงเป็นการประสานองค์ประกอบของความคล่องตัว ความมีประสิทธิภาพ และความสามารถในการสร้างนวัตกรรมแบบผู้ประกอบการ ร่วมกับความมีจิตสำนึกต่อสังคม และความมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมแบบนักพัฒนาสังคมไว้ด้วยกัน

กล่าวโดยสรุป แนวคิด "การประกอบการเพื่อสังคม" จึงเปรียบเหมือนแนวคิดที่ประสานจุดแข็ง แก้ไขจุดอ่อนของภาคส่วนต่างๆ และน่าจะเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจ

จึงสนับสนุนแนวคิดเรื่องการประกอบการเพื่อสังคม ที่ dr kriengsak แนะนำไว้

http://www.seint.org/

2 comments:

  1. การประกอบการเพื่อสังคม ขอบคุณคับ

    ReplyDelete
  2. ลักษณะของผู้ประกอบการเพื่อสังคม จึงเป็นการประสานองค์ประกอบของความคล่องตัว ความมีประสิทธิภาพ และความสามารถในการสร้างนวัตกรรมแบบผู้ประกอบการ ร่วมกับความมีจิตสำนึกต่อสังคม และความมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมแบบนักพัฒนาสังคมไว้ด้วยกัน

    ReplyDelete