Thursday, January 28, 2010

Kriengsak chareonwongsak : The Power for You part 1

อำนาจนี้มี “เพื่อเธอ” ตอนที่ 1


พ่อแม่จำนวนมากในสังคมมีแนวทางที่หลากหลายแตกต่างกันไปในการอบรมเลี้ยงดูลูกของตน ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ประเภทที่ชอบใช้อำนาจเป็นใหญ่หรือเผด็จการนิยม พ่อแม่ประเภทเมตตามหานิยมเลี้ยงลูกแบบเพื่อน ไม่กล้าใช้อำนาจกับลูกของตน รวมไปถึงพ่อแม่ประเภทประชาธิปไตยที่สมาชิกในครอบครัวทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทุกประการไม่มีใครใหญ่กว่าใคร เป็นต้น

แต่ละแนวทางที่พ่อแม่ใช้ในการเลี้ยงดูลูกของตนนั้นล้วนแล้วแต่มาจากมุมมองปรัชญา โลกทัศน์ที่แตกต่างกันในการให้ความหมายหรือนิยามของการเป็น “พ่อแม่” นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ บทบาทหน้าที่ สิทธิต่าง ๆ ของการเป็นพ่อแม่ที่มีต่อลูก รวมทั้งสิทธิหรือหน้าที่ต่าง ๆ ที่ลูกพึงมีต่อพ่อแม่ของตน จากงานวิจัยพบว่า ในบริบทของสังคมไทย พ่อแม่ในครอบครัวไทยยังคงให้ลูกหลานรักษาระเบียบวินัย และเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ และมักไม่ค่อยให้ลูกมีอิสระมากนัก


พ่อแม่ส่วนใหญ่มีแนวคิดตามสุภาษิตไทยว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี และมีแนวคิดค่อนไปทางอำนาจนิยมคิดว่าตนนั้นเป็นผู้นำในครอบครัว เป็นผู้ทำงานหารายได้ เลี้ยงดูส่งเสียให้ลูกได้มีกินมีใช้ เล่าเรียนหนังสือ เป็นผู้ให้กำเนิดชีวิตลูกมา และเชื่อว่าเด็กต้องได้รับการควบคุมบังคับเพื่อจะได้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี จึงมักแสดงอำนาจเหนือลูกในรูปแบบวิธีการต่าง ๆ วิธีหนึ่งที่ใช้คือ การ “ทำให้กลัว” ด้วยการดุด่าว่ากล่าว การพูดกดดัน การลงโทษด้วยวิธีการตี ตัดสิทธิประโยชน์ เป็นต้น

การใช้อำนาจด้วยการทำให้กลัวนี้อาจนำมาซึ่งปมปัญหาต่าง ๆ ตามมาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การเกิดช่องว่างระหว่างพ่อแม่และลูก เนื่องจากลูกไม่รับรู้ว่าการใช้อำนาจของพ่อแม่ทำไปด้วยความรัก ความกลัวทำให้ขาดความสนิทสนมระหว่างกัน และการบังคับของพ่อแม่ทำให้ลูกอยากมีอิสระเมื่อโตขึ้น เขาอาจเติบโตมาเป็นคนที่ทำอะไรตามใจตนเอง ไร้ระเบียบวินัย หรือขาดแรงจูงใจที่จะควบคุมตนเองเนื่องจากไม่ต้องกังวลว่าจะถูกบังคับเช่นที่เคยเป็นในสมัยเด็กแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้าม พ่อแม่จำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยกับการเลี้ยงลูกด้วยการใช้อำนาจและทำให้เกิดความกลัว จึงหันมามาใช้วิธีการดูแลลูกในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ปฏิบัติต่อลูกเสมือนเป็นเพื่อน พูดคุย เป็นกันเอง เตือนได้แต่ไม่ใช้วิธีการรุนแรงใด ๆ หรืออาจเลี้ยงลูกแบบประชาธิปไตย ใช้เสียงข้างมากในการปกครองลูกและครอบครัว ทุกเสียงในครอบครัว พ่อแม่ลูก มีน้ำหนักเท่ากัน ทำให้อาจคิดเล่น ๆ ขำ ๆ ได้ว่า ในอาหารเย็นมื้อหนึ่ง หากลูกทั้งสามคนไม่ต้องการทานอาหารในมื้อนั้นแต่อยากทานไอศกรีมแทน โดยหลักประชาธิปไตยแล้วพ่อแม่มีสองเสียง ลูกมีสามเสียง แพ้ลูกแน่นอน ดังนั้นในมื้ออาหารนั้นพ่อแม่จำเป็นต้องยอมให้ลูกทานไอศกรีมแทนข้าวเย็นหรือไม่ ?

ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วการเลี้ยงลูกแบบค่อนไปทางตามใจ ไม่มีการลงโทษ ไม่มีการว่ากล่าว ไม่มีการอธิบายเหตุผล ไม่มีการฝึกวินัยในการดำเนินชีวิตและไม่ได้ฝึกให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ส่งผลเมื่อเด็กเติบโตขึ้นมาจะขาดทักษะในการแยกแยะว่าอะไรสมควร ไม่สมควร เมื่อทำบางสิ่งผิดพลาดขึ้นมาพ่อแม่จึงมักไปโทษที่ตัวเด็กเองว่าเป็นเด็กที่ไม่ดีและอาจลงโทษอย่างรุนแรง ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วคนที่สมควรถูกลงโทษร่วมด้วยนั้นก็คือ พ่อแม่ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบชีวิตเขาตั้งแต่เกิดมานั่นเอง

การเลี้ยงลูกเพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะตกแก่ลูก พ่อแม่ควรใช้วิธีเลี้ยงอย่างสมดุล เริ่มจากการมีมุมมองที่สมดุล การใช้อำนาจในบทบาทพ่อแม่นั้น แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดหรือเลวร้ายแต่อย่างใด ในฐานะหน้าที่แห่งการเป็น “ผู้นำ” หรือ “ผู้ปกครอง” ของเด็ก ๆ ที่ยังต้องการผู้คอยปกป้อง ให้กำลังใจ ชี้ถูกผิดและนำทิศนำทางเขาไปในทางที่ถูกต้องดีงาม จนกว่าลูกจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถตัดสินใจเลือกเดินในทางที่ถูกต้อง แยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ โดยมีภูมิคุ้มกันในชีวิตอย่างรอบด้าน

7 comments:

  1. อำนาจแสดงตัวตนความเป็นคนของคน
    มีแล้วใช้อย่างไรบ่งบอกความเป็นคนของคน

    ReplyDelete
  2. พ่อแม่เป็นแบบอย่างแก่ลูก
    ลูกเลียนแบบพ่อแม่แน่นอน ไม่มากก็น้อย
    ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น

    ReplyDelete
  3. เป็นพ่อแม่คนไม่ยาก
    แต่เป็นแล้ว เป็นให้ดียาก

    ReplyDelete
  4. พลังที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่งเสมอ

    ReplyDelete
  5. http://nicedays.exteen.com/

    one of Dr kriengsak chareonwongsak good article

    ReplyDelete
  6. kriengsak and his work is so impressive

    ReplyDelete