Friday, February 5, 2010

ปัญญา ที่มาของ ปรัชญา ผู้มีปัญญา ที่มาของ เมธี ตอนที่ 1

การใช้ปัญญา คือ ความสามารถในการใช้วิจารณญาณของแต่ละบุคคลในการประยุกต์ใช้ความรู้ให้ถูกที่ ถูกเวลา ถูกคน ถูกสถานการณ์ ถูกโอกาส และปัญญาเป็นเรื่องที่คนทุกคน ทุกระดับความรู้สามารถที่จะมีได้ หากบุคคลนั้นมี “ความรักในปัญญา” หรือความปรารถนาแสวงหาความจริงและเข้าใจในสิ่งที่กระทำอย่างเหมาะสมความรักในปัญญาและความรู้ จึงเป็นที่มาของคำว่า ปรัชญา (philosophy) ซึ่งมาจากภาษากรีก 2 คำ คือ philos (ความรัก) + sophia (ปัญญา)

ในภาษากรีก ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า ปรัชญาเริ่มต้นโดยเทเลส (Thales, 624-550 ก่อน ค.ศ.) ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งปรัชญา แห่งสำนักไอโอนิก ซึ่งมีความสงสัยและเริ่มถามปัญหาเกี่ยวกับจักรวาลและโลก เกิดความพยายามให้เหตุผลเกี่ยวกับธรรมชาติ กำเนิดของโลก และการเปลี่ยนแปลงของโลก

และพิธากอรัส (Pythagorus : 572-497 ก่อน ค.ศ.) นักคิดชาวกรีก เป็นผู้เริ่มใช้คำว่า ผู้รักในปัญญา (philosopher) เป็นคนแรก ในขณะที่มีคนถามเขาว่า เขาเป็นผู้มีสติปัญญา (a wise man) ใช่หรือไม่ พิธากอรัสตอบว่า “เขาเป็นเพียงผู้ที่รักในปัญญาคนหนึ่ง เท่านั้น”1 คำกล่าวข้างต้นจึงเป็นที่มาของคำว่า “นักปรัชญาเมธี” หรือ “ผู้ที่รักในปัญญา”2 และกล่าวกันว่าในสมัยกรีกโบราณนั้น ทุกคนที่เรียนเพื่อรู้มิใช่เรียนเพื่อประกอบอาชีพถือว่าเป็นนักปรัชญาเมธีทั้งสิ้น

1 comment: