Friday, January 1, 2010

Kriengsak chareonwongsak : Rescue the retail crisis though the niche marketplace

กู้วิกฤตค้าปลีก ด้วยตลาดเฉพาะทาง

ธุรกิจร้านค้าปลีกดั้งเดิมในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต เนื่องจากการแข่งขันจากธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจการค้าสมัยใหม่ (modern trade) ที่มีสินค้าและบริการ “สากเบือยันเรือรบ” ซึ่งไม่เพียงแต่ร้านค้าโชห่วยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ยังเป็นคู่แข่งโดยตรงกับร้านค้าปลีกดั้งเดิมประเภทอื่น ๆ อีกหลายประเภทด้วย

เห็นได้จาก ปัจจุบันมีห้างขนาดใหญ่ที่ขายสินค้าเฉพาะทางเกิดมากขึ้น เช่น ห้างขนาดใหญ่ที่ขายเฉพาะเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน ห้างที่ขายเฉพาะวัสดุก่อสร้าง ห้างที่ขายเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีร้านค้าสมัยใหม่ที่เป็นสมาชิกของแฟรนไชส์ ซึ่งขายสินค้าและบริการต่าง ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก อาทิ แฟรนไชส์ของร้านขายแว่นตา แฟรนไชส์ของร้านปะยางและตั้งศูนย์ถ่วงล้อ ฯลฯ


ลักษณะเด่นประการหนึ่งของห้างร้านสมัยใหม่เหล่านี้ คือ จำนวนและความหลากหลายของสินค้า ซึ่งส่งผลทำให้ต้นทุนของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าและบริการในห้างขนาดใหญ่ลดลง อาทิ ต้นทุนข้อมูลข่าวสารลดลง เนื่องจากสินค้ามีจำนวนมากทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาและคุณภาพสินค้าได้ง่าย ขณะที่ร้านค้าปลีกดั้งเดิมมีจำนวนและประเภทสินค้าให้เปรียบเทียบได้น้อย และสินค้าแต่ละประเภทยังมีเพียงบางยี่ห้อเท่านั้น และการเดินทางมาซื้อสินค้าที่ห้างขนาดใหญ่ยังทำให้ต้นทุนการเดินทางลดลง เพราะผู้บริโภคจะได้สินค้าครบตามความต้องการ จากการเดินทางมาซื้อสินค้า ณ ที่แห่งเดียว ทำให้เสียต้นทุนการเดินทางน้อยกว่าการเดินทางไปซื้อสินค้าจากหลายแห่ง

หนทางหนึ่งที่ร้านค้าปลีกดั้งเดิมจะแก้ไขความเสียเปรียบดังกล่าว และสามารถแข่งขันกับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่หรือร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้ คือ การรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ที่มีความหลากหลายของสินค้าและบริการ เพื่อทำให้เกิดความได้เปรียบจากขนาดภายนอก (external economy of scale) หรือรวมตัวเป็นลักษณะของตลาดที่ขายสินค้าเฉพาะทาง โดยมีผู้ค้าหลายรายที่มีสินค้าในกลุ่มเดียวกันมารวมตัวกัน เพื่อจำหน่ายสินค้าในสถานที่เดียวกัน ทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาและคุณภาพสินค้าได้ มีสินค้าให้เลือกเป็นปริมาณมาก

รูปแบบของการรวมตัวดังกล่าว คือ “ตลาดนัด” หรือ “ตลาดที่ขายสินค้าเฉพาะทาง อาทิ ตลาดนัดสวนจตุจักรในเขตจตุจักร ตลาดสำเพ็งในเขตสัมพันธวงศ์ ตลาดผ้าโบ้เบ้ในเขตป้อมปราบ ตลาดเสื้อผ้าประตูน้ำในเขตราชเทวี ตลาดต้นไม้ในเขตตลิ่งชัน ฯลฯ ซึ่งตลาดเหล่านี้ยังสามารถดึงดูดลูกค้าจำนวนมากและสามารถจำหน่ายสินค้าได้ แม้ต้องเผชิญการแข่งขันจากธุรกิจการค้าขนาดใหญ่

หากพิจารณาท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯและทั่วประเทศไทย เราจะพบว่า ในหลายพื้นที่มีศักยภาพในการผลิตหรือจำหน่ายสินค้าบางประเภทที่มีเอกลักษณ์หรือเป็นสินค้าเด่นของชุมชนนั้น ๆ โดยที่ยังไม่มีการรวมตัวกันเป็นตลาดอย่างชัดเจน อาทิ สินค้าฮาลาล ผลิตภัณฑ์อาหาร อุปกรณ์แต่งบ้าน สินค้าวัฒนธรรม ศิลปะ ฯลฯ

ขณะที่บางพื้นที่มีตลาดที่จำหน่ายสินค้าบางประเภทอยู่แล้ว เช่น ตลาดไม้ ตลาดเครื่องปั้นดินเผา ตลาดเฟอร์นิเจอร์ ตลาดสินค้าและอุปกรณ์แต่งงาน เป็นต้น หากแต่ขาดการส่งเสริม การประชาสัมพันธ์ และการพัฒนาสิ่งอำนายความสะดวกต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ตลาดเหล่านี้ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง หรือไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากนัก

และจากการลงพื้นที่ของกรุงเทพฯอย่างต่อเนื่อง ผมได้พบว่า ในบางเขตพื้นที่ของกรุงเทพฯยังมีพื้นที่ที่จัดสรรเป็นตลาดอยู่ก่อนแล้ว แต่ตลาดดังกล่าวขาดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ตลาดอยู่ในสภาพซบเซา เช่น ตลาดจตุจักรพระราม 3 ในเขตยานนาวา เป็นต้น

นอกจากนี้ ผมยังพบอีกว่า ในหลายเขตกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในแถบชานเมือง ยังไม่มีตลาดเฉพาะทางหรือตลาดนัด ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความไม่สะดวกในการเดินทาง แต่หากมีการสำรวจและศึกษาอย่างจริงจัง เราจะพบว่าในแต่ละเขตพื้นที่อาจมีสินค้าที่น่าสนใจ รวมทั้งหากมีการจัดระบบการบริหารจัดการที่ดี ตลาดเฉพาะทางจะสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายเขตพื้นที่ของกรุงเทพฯ

การเกิดขึ้นของตลาดเฉพาะทางต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งบทบาทสำคัญในการผลักดัน คือ รัฐบาลและกรุงเทพมหานครควรมีส่วนในการจัดหาพื้นที่ตลาด โดยการพัฒนาพื้นที่เดิมของกรุงเทพฯที่ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ รวมทั้งการเจรจาขอใช้พื้นที่หรือที่ดินของหน่วยงานราชการต่าง หรือซื้อพื้นที่หรือส่งเสริมเอกชนซื้อพื้นที่เพื่อสร้างตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับประชาชนที่มาซื้อสินค้า

การพัฒนาตลาดเฉพาะทางในกรุงเทพฯ และในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศ ไม่ควรพิจารณาเพียงการช่วยผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกให้มีโอกาสอยู่รอดได้เท่านั้น แต่ภาครัฐควรมีเป้าหมายในการพัฒนาสถานที่เหล่านี้ให้สามารถทำหน้าที่บริการประชาชนได้หลายวัตถุประสงค์ เช่น การเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของครอบครัว แหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการจับจ่ายสินค้าเชิงวัฒนธรรม การเป็นแหล่งเรียนรู้ของครอบครัว เป็นต้น

วิกฤตร้านค้าปลีกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความพยายามในการกีดกันการขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ อาจเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ไม่ครบถ้วนและไม่ยั่งยืน แนวทางหนึ่งที่อาจช่วยกู้วิกฤตร้านค้าปลีกได้ คือ การสนับสนุนการรวมตัวของผู้ประกอบการร้านค้าปลีกดั้งเดิม เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นตลาดเฉพาะทางในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ ซึ่งเปรียบเสมือนการรวมพลังของมดจำนวนมากที่อาจล้มช้างได้

No comments:

Post a Comment