Thursday, June 2, 2011

Profressor Kriengsak Chareonwongsak : เรียนรู้การแก้วิกฤติการศึกษาในอิสราเอล

ศ. ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

เรียนรู้การแก้วิกฤติการศึกษาในอิสราเอล

ปัญหาการศึกษาในต่างประเทศ อิสราเอล เป็นประเทศที่มีปัญหาการศึกษาคล้ายคลึงกับไทยอย่างมาก ปัจจุบันความเชื่อมั่นของคนอิสราเอลต่อระบบการศึกษาลดต่ำลง ทั้งยังเกิดความวิตกกันว่าในอนาคต อิสราเอลจะไม่ได้เป็นประเทศที่โดดเด่นด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกต่อไป แม้ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของอิสราเอลมีมูลค่าอยู่ที่ร้อยละ 12 ของ GDP ซึ่งมากกว่า 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด แต่เมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว อุตสาหรรมสาขาดังกล่าวเคยเติบโตมากกว่านี้ 2 เท่า

สัญญาณที่บ่งบอกว่าการศึกษาในอิสราเอลมีปัญหา และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยพบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันในหลายประการ ดังนี้
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับต่ำ ในศตวรรษที่ 1960s นักเรียนอิสราเอลมีศักยภาพด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อันดับต้น ๆ ของโลก แต่ศักยภาพด้านนี้ได้ลดลงเรื่อย ๆ โดยในปี 2002 เลื่อนอันดับลงไปอยู่ที่ 33 จากทั้งหมด 41 ประเทศ ตามหลังประเทศไทยและโรมาเนีย และนักเรียนอายุ 18 ปี เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานการอ่านภาษาฮีบรู (standard Hebrew reading comprehension test) จากที่เคยผ่านถึงร้อยละ 60 เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เช่นเดียวกับประเทศไทย ผลการสำรวจในโครงการ PISA ปี 2549 เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ไทยควรปรับปรุงการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และยังมีผลการทดสอบระดับชาติ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2546-2547 และ 2549 พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  มีคะแนนเฉลี่ยวิชาหลักต่ำกว่าร้อยละ 50 ในวิชาสังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ยกเว้นวิชาภาษาไทย ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (O-NET) ปีการศึกษา 2548-2549 โดยสำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) พบว่า นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีคะแนนเฉลี่ยวิชาหลัก 5 วิชา คือ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต่ำกว่าร้อยละ 50 ทั้ง 2 ปี ยกเว้นภาษาไทย

ครูมีภารกิจงานมากแต่ค่าจ้างต่ำ OECD กล่าวว่า ในบรรดาประเทศอุตสาหรรม เงินเดือนครูอิสราเอลนับว่าต่ำที่สุด โดยเงินเดือนเริ่มต้นของครูอิสราเอลได้เพียง 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งไม่พอสำหรับค่าเช่าอพาร์ตเม้นต์ในเมืองเทลอาวีฟ (Tel Aviv) ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของครู ไม่เพียงเท่านั้นครูอิสราเอลยังมีภาระความรับผิดชอบมาก นาย Asaf Makover ครูโรงเรียนมัธยม Jerusalem’s Beit-Chinuch High School กล่าวว่า ปัจจุบันการเรียนการสอนของครูอิสราเอลอยู่ในระดับเลวร้าย ครู 1 คน ต้องรับผิดชอบนักเรียนถึง 40 คน และนอกจากงานสอน ครูยังต้องรับผิดชอบภาระอื่นในโรงเรียนอีก ซึ่งกระทบต่อเวลาสอน ปัญหาดังกล่าวได้สะสมมานาน จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2550 ครูอิสราเอลได้รวมตัวกันประท้วง เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้เพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงสภาพการทำงานของครูให้ดีขึ้น จนเป็นเหตุให้หลายโรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว
ปัญหาครูอิสราเอลไม่ต่างจากครูไทย กล่าวคือ ครูไทยมีผลตอบแทนและสวัสดิการต่ำ แต่มีชั่วโมงการทำงานที่สูง ส่งผลต่อคุณภาพทางการศึกษาของผู้เรียน ข้อมูลจาก Education at a Glance 2005 ของ OECD พบว่า ครูไทยมีภาระงานหนักกว่าครูในประเทศกลุ่ม OECD รวมทั้งประเทศในแถบภูมิภาคเอกเชียอีกหลายประเทศ โดยครูไทยต้องรับผิดชอบนักเรียน 40 คน ต่อ 1 ห้องเรียน มีชั่วโมงการทำงานอยู่ระหว่าง 900-1,200 ชั่วโมงต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยชั่วโมงการทำงานของครูในประเทศกลุ่ม OECD ซึ่งอยู่ที่ 600-700 ชั่วโมงต่อปี


ในขณะที่ประเทศไทยก็ประสบปัญหาครูทำงานหนักแต่รายได้ค่อนข้างต่ำเช่นกัน จากรายงานการวิจัยของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สภาวะการขาดแคลนครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย (2547) โดย รศ.ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง รศ.ดร.จรูญศรี มาดิลกโกวิท และคณะฯ พบว่า ค่าตอบแทนครูต่ำเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่น อีกทั้งระบบเงินเดือนเดียว กล่าวคือ อัตราเงินเดือนระหว่างครูเก่งครูดีกับครูคุณภาพต่ำไม่แตกต่างกัน ทำให้ครูเก่งครูดีขาดกำลังใจและมีแนวโน้มจะขอออกจากการประกอบวิชาชีพครูมากขึ้น

การขาดแคลนครูในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ปัจจุบันอิสราเอลขาดแคลนครูที่เชี่ยวชาญในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เนื่องจากที่ผ่านมาได้ลดมาตรฐานผู้ที่จะเข้ามาเป็นครูในวิชาดังกล่าวลง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เคยกำหนดเงื่อนไขผู้ที่เข้ามาเป็นครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไว้ว่า อย่างน้อยต้องจบจากมหาวิทยาลัย แต่ในปัจจุบันได้ลดเงื่อนไขดังกล่าวลง ในประเทศไทยผลจากนโยบายจำกัดอัตรากำลังคนของภาครัฐ หรือการเออลี่รีไทร์ ทำให้ขาดแคลนครูอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2543 โดยเฉพาะครูวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ นอกจากนี้ กระบวนการผลิตครูยังไม่สามารถคัดเลือกคนดีคนเก่งมาเป็นครู และแม้ครูจะรู้เนื้อหาสาระและวิธีสอน แต่ไม่สามารถสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น อิสราเอลยังเกิดสภาพการณ์ที่ผู้ปกครองความไม่มั่นใจในคุณภาพการศึกษา ผลจาก การตัดงบประมาณเพื่อการศึกษาของรัฐบาลอิสราเอล จากร้อยละ 9.3 ของ GDP ในปี 2002 เป็นร้อยละ 8.3 ของ GDP เมื่อปลายปี 2006 ทำให้โรงเรียนลดชั่วโมงการเรียนการสอนลงไป เมื่อปี 1997 นักเรียนใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนจำนวน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ในวันนี้ ผู้เรียนใช้เวลาเรียนเพียงแค่ 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โรงเรียนส่วนใหญ่หยุดการสอนตั้งแต่เวลา 13.00 น. เพราะบางวิชาไม่มีการเรียนการสอน หรือบางวิชาไม่สามารถสอนได้ครบตามหลักสูตร โดยวิชาหลักอย่างคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้ถูกตัดทอนบทเรียนลงไป วิกฤติการณ์ดังกล่าว ทำให้พ่อแม่ปกครองไม่มั่นใจในคุณภาพการศึกษาหา จึงทางออกโดยจัดครูพิเศษมาสอนให้บุตรหลานตนหลังจากเลิกเรียน

การแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาของอิสราเอล อิสราเอลแก้ไขปัญหาการศึกษาด้วยการเพิ่มงบประมาณในปี 2008 โดยอิสราเอลจะเพิ่มงบประมาณอีก 400 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับการศึกษา โดยงบฯ ที่เพิ่มเข้ามานี้นำมาใช้เป็นเงินเดือนครูและการปฏิรูปโรงเรียน โดยรัฐบาลมีงบผูกมัดว่าต้องเพิ่มงบฯ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 5 ปี นั่นหมายความว่า รัฐบาลอิสราเอลให้ความสำคัญกับการปฏิรูปที่ครูผู้สอน และสถานศึกษามากกว่าการพัฒนาหรือปฏิรูปในส่วนอื่น

หากมองย้อนกลับมายังประเทศไทยพบว่า ไทยเองก็ประสบปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาหลายประการที่คล้ายคลึงกับประเทศอิสราเอล แม้ว่าไทยจะมีความพยายามปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 โดยออก พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และจัดโครงการดำเนินการจำนวนมากมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน แต่กลับพบว่า การศึกษาไทยยังประสบปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา ที่ยังไม่พัฒนาไปเท่าที่ควร
ผลการประเมินขององค์กรระหว่างประเทศพบว่า การศึกษาไทยประสบปัญหาด้านคุณภาพ ตั้งแต่ปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษา อาทิ องค์การความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD จัดโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment: PISA) ปี 2549 โดยสำรวจความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่านของนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวน 4 แสนคน ในประเทศสมาชิก OECD 57 ประเทศ ผลการสำรวจพบว่า มีนักเรียนไทยไม่กี่คนทำคะแนนอยู่ในกลุ่มความสามารถระดับสูง นักเรียนไทยประมาณร้อยละ 40 ทำคะแนนอยู่ในระดับ 1 หรือต่ำกว่า และร้อยละ 50 ทำคะแนนด้านคณิตศาสตร์อยู่ในระดับ 1 หรือต่ำกว่า องค์การยูเนสโก ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แนะนำว่าไทยควรเพิ่มคุณภาพการศึกษา โดยระดับปฐมวัยควรปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ระดับอุดมศึกษาควรปรับการวัดมาตรฐานการสอน ทำวิจัย และเพิ่มจำนวนหนังสือในห้องสมุด เป็นต้น

ปรากฏการณ์วิกฤตคุณภาพการศึกษาไทยดังกล่าวนี้ แสดงนัยถึงไทยต้องกลับไปทบทวนแนวทางปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาว่า มีปัญหา อุปสรรคใด และมุ่งเน้นที่การดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล  ที่มิได้มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมโครงการต่าง ๆ มากมาย โดยไม่ได้ยึดโยงสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ประเด็นสำคัญอยู่ที่การหาจุดที่เป็นคานงัดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ถูกต้อง ดังตัวอย่างของอิสราเอลที่เห็นว่า จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ต้อง “พัฒนาที่ตัวครู” และ “ปฏิรูปที่สถานศึกษา” ซึ่งหากวิเคราะห์คานงัดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ผมเสนออย่างน้อย 3 จุด ได้แก่
1) นำธงชัด โดย รมต. ศธ. ต้องชัดเจนด้านการกำหนดนโยบายการศึกษา และมีกลไกให้เกิดดำเนินการต่อเนื่องแม้มีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล
2) จัดสรรทรัพยากรโดยจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้แก่ผู้เรียนตามคุณภาพและประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
3) พัฒนาคุณภาพครู โดยพัฒนาครูให้มีคุณภาพในการสอนและมีขวัญกำลังใจในการประกอบวิชาชีพ
การปฏิรูปการศึกษาไทยจะมุ่งสู่เป้าหมายการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้หรือไม่นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตั้งลำ และหาคานงัดสำคัญในการขับเคลื่อนไปอย่างถูกทิศ มิใช่การดันทุรังดำเนินการไปในกรอบเดิมที่แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่เกิดผลในเชิงประจักษ์

บทความ ของ ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate)
credit by www.kriengsak.com

3 comments:

  1. รู้ลึกจริงๆ

    ReplyDelete
  2. มีนักเรียนไทยไม่กี่คนทำคะแนนอยู่ในกลุ่มความสามารถระดับสูง

    ReplyDelete
  3. หากมองย้อนกลับมายังประเทศไทยพบว่า ไทยเองก็ประสบปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาหลายประการ

    ReplyDelete