“ การจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่านี่ต้องเกิดจากการทิ้งมรดกของการทำบางอย่างไว้ก่อนที่เราจะตายจากโลกนี้ไป แล้วก็อยากเป็นการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในเชิงสร้างสรรค์ที่ทิ้งบ้านเมืองที่ดีในอนาคตเพื่อคนรุ่นต่อไปจะได้เป็นอยู่ ”
หากจะเปรียบเปรยคำพูดข้างต้นของ ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ชายผู้มากความสามารถ รวมถึงในฐานะนักคิด นักเขียน ผู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 51 ปี ผู้นี้ คงเสมือนดั่งวรรคทองในกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ กรมพระปรมานุชิตชิโณรส ที่ว่า
พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา
อาจเป็นเพราะชีวิตมีอะไรให้ค้นหาไม่รู้จบ หนอนหนังสือตัวน้อยจึงเติบโตเป็นผีเสื้อแสนสวยสร้างสรรค์ความงามแก่โลกในภาระหน้าที่ตามวิถีทางแห่งชีวิตของตน
“ ผมเป็นคนอ่านหนังสือวันละเล่มตั่งแต่สมัยเป็นนักเรียนนะครับ ก็อ่านหนังสือ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ปรัชญา การบริการ ประวัติบุคคลสำคัญ อ่านมาตลอดชีวิต และเป็นนักกิจกรรม ผมเป็นประธานค่ายอาสาพัฒนาของโรงเรียนอัสสัมชัญที่บางรักครับ ได้ไปทำกิจกรรมสร้างโรงเรียนในอีสานระหว่างปิดเทอมฤดูร้อนของโรงเรียน
“ อุดมการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในใจ ที่ค่อนข้างชัดเจนมาตั้งแต่เด็กนะครับ ก็เลยทำให้การดำเนินชีวิตในวิถีต่อมาในทิศทางที่จนถึงในวันนี้ในหลายอย่างก็เพราะเห็นว่า เศรษฐกิจ การเมือง สังคม เชื่อมโยงกันหมด และคนเรามีโอกาสได้เล่นบทบาทในชีวิตหนึ่งนี่ได้จำกัด เพราะเวลาชีวิตความเป็นผู้ใหญ่มีน้อย เราต้องวางการตัดสินใจให้น้ำหนักคุณค่าชีวิตอย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงต้องคิดเชิงปรัชญากับชีวิต ต้องคิดเชิงความสมจริงกับการที่จะมองไปข้างหน้าว่าเราอยากจะให้ชีวิตเราไปทำอะไรเพื่อทำให้บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นในบ้านเมือง ความสนใจอันนี้จึงเกิดขึ้นมาตั่งแต่เด็กและไม่เคยจืดจางหายไปครับ ”
ในบทบาทนักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ผู้มีผลงานอันมีคุณูปการต่อประเทศ ทั้งยังมีประสบการณ์ด้านการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ การต่างประเทศ สังคม และการศึกษา กับตำแหน่งในฐานะที่ปรึกษาของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในการบริหารประเทศมาหลายยุคหลายสมัย ทั้งนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และล่าสุดก่อนที่จะโดดเข้ามาเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวในสภาผู้แทนราษฎร คือ ผู้อำนายการสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ( Institute of Future Studies for Development: ; IFD ) สะท้อนมุมมองพัฒนาการของเมืองไทยในสิ่งที่เขาได้พบเห็น ได้กระทำ และรับรู้
“ ที่เราถูกจัดอันดับให้อยู่ล่างๆ เป็นเพราะว่าเรานำเข้าเทคโนโลยีมากเกินไป และองค์ความรู้ที่มีอยู่ก็ถูกกำหนดโดยกลุ่มผู้ปกครองที่นำสิ่งเหล่านี้เข้ามา ดังที่สังคมไทยประสบเรื่องมาตั้งแต่อดีตหรือเปล่า
“ ผู้ทำงานวิจัยก็ไม่ได้รับเกียรติ ไม่ได้รับเงินทองตอบแทน ไม่ได้คุณค่าเชิงปัญญามากนัก ไม่มีใครเอาไปใช้ประโยชน์อุตสาหกรรมก็ไม่มาเชื่อมโยงกับงานวิจัย การเอาไปใช้ประโยชน์เชิงสังคมก็ไม่เต็มที่ สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้งานวิจัยเราอ่อนแออยู่เหมือนกัน เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงการลอกเลียนแบบ การขอซื้อเข้ามาของเทคโนโลยี การขอถ่ายโอนเทคโนโลยี การขโมยเทคโนโลยี
“ แต่การสร้างเทคโนโลยีด้วยภูมิปัญญาสร้างสรรค์ของเรามีไม่มาก เมื่อมีไม่มากเราก็ไม่มีอะไรที่จะสามารถไปขายเป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญารูปแบบนี้ได้เต็มที่นัก ภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายอย่างที่ดีของเราก็ไม่ได้นำมาจัดระบบเป็นวิทยาศาสตร์
“ เช่น เรารู้ว่าสมุนไพรนี่ดีเราก็ไม่ได้ไปวิจัยกันจนถึงแก่สูตรเคมีว่ามันเป็นสูตรอะไรเพื่อจดทะเบียนได้ เรารู้เพียงแต่ว่าต้องเอาของอันนี้มา 3 กำผสมกับสมุนไพรอีกแบบหนึ่งแล้วนำไปต้มใสหม้อไว้แล้วก็กิน แต่เราไม่รู้ว่าเบื้องหลังสมุนไพรมันมีสาสารอะไรบ้างที่เราสกัดมาจากห้องแลบวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะเรียกชื่อเป็นสากลทางเคมี ทางรหัสวิทยาศาสตร์แล้วจะได้เอาไปจดทะเบียน แล้วเอาไปต่อยอดทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มูลค่าเพิ่ม ”
คนไทยใช่ว่าโง่ แต่คนไทยไม่ขวนขวาย และขาดการส่งเสริมในวิถีทางที่เหมาะที่ควร ถูกสร้างภาพมายาให้นับถือ ' วัตถุ ' มากกว่า ‘ ปัญญา ' สิ่งเหล่านี้คือหนึ่งในปัจจัยของการเดินตามมหาอำนาจไม่สิ้นสุด
“ ความไม่รู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ดี ความไม่สนใจเรียนที่วิชาการที่มันเพิ่มขึ้น คณิตศาสตร์เราก็แทบไม่เรียนอย่างจริงจัง ฟิสิกส์ก็ไม่เรียนวิชาอะไรที่เรียนยากๆ เราก็หนีหมด เราบูชา … ผมใช้คำๆ หนึ่งว่า เราเป็นปริญญาชนเราไม่ชอบเป็นปัญญาชน นี่เป็นคำพูดที่ผมสร้างขึ้นนานแล้ว แล้วเราบูชาวุฒิบัตรที่เอามาปะข้างฝาโชว์เพื่อนให้รู้สึกเราน่าภูมิใจ แต่ไม่ได้สนใจเนื้อหาที่เรียนจริง
“ ถ้าเผื่อว่าเรายังสนใจอย่างนี้แล้วทำมหาวิทยาลัยของเราให้เป็นโรงงานผลิตปริญญาต่อไปโดยไม่สนใจคุณภาพ วันหนึ่งเราก็จะเศร้าใจว่าคนที่เราผลิตออกมาไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่นักอันนี้ก็ทำให้เราอ่อนด้อยบ้าง ”
เฉกเช่นแวดวง ‘ คนในเครื่องแบบ ' หรือ ' คนมีสี ' องค์กรทางสังคม ซึ่งขับเคลื่อนความเจริญของประเทศชาติอยู่เบื้องหลังเสมอมา หากแต่โลกเปลี่ยนบทบาทต้องเปลี่ยนตาม คนในระบบราชการจึงต้องผันแปรไปตามทิศทางลมโดยไม่ไหวเอนต่อความเปลี่ยนแปลงอันถาโถมอย่างรุนแรง แม้ภาระความรับผิดชอบ และระบบที่พันธนาการการเคลื่อนไหวไม่อิสระเท่าเอกชนก็ตาม
“ คำว่า คนมีสี อาจดูเป็นคำแง่ลบไป ขออนุญาตเรียกว่า คนในเครื่องแบบ จะเหมาะสมกว่า ในที่นี้ครอบคลุมกลุ่มทหาร ตำรวจ และรวมถึงกลุ่มข้าราชการด้วย สำหรับผมแล้วมองว่าสถาบันทั้งสามมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งต่อความสงบเรียบร้อย ความเจริญก้าวหน้า และความมั่นคงของประเทศ
“ ทั้ง 3 สถาบันนี้เป็นสถาบันที่มีอำนาจ ซึ่งนำมาใช้อย่างเสียสละเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ
สถาบันทหาร - ปกป้องประเทศจากการรุกราน รักษาความมั่นคงของประเทศ
สถาบันตำรวจ - เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
สถาบันข้าราชการ - ทำงานเพื่อประชาชน มีหน้าที่ในการพัฒนาประเทศ
“ กลุ่มบุคคลเหล่านี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น ผู้เสียสละ เพราะนอกจากยินดีรับรายได้ที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับภาคเอกชนแล้ว ยังยินดีเสียสละในการทำงานที่ยากลำบาก เสี่ยงอันตราย และทุ่มเท เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนในยามที่เกิดปัญหาและวิกฤตต่าง ๆ ในบ้านเมือง
“ นอกจากนี้ ยังเป็นกลุ่มคนที่เรียกว่ามีความเป็นเอกภาพ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา สามารถเรียกปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงเมื่อมีภารกิจด่วน
“ ภาพที่น่าประทับใจในช่วงเวลาที่ผ่านมา อาทิ ตำรวจจำนวนหลายร้อยนายได้เสียสละมาปฏิบัติหน้าที่ดูแลตรวจตราความเรียบร้อยและรักษาความสงบ ในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเป็นเวลาต่อเนื่องหลายวัน หรือเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทหารจำนวนมากได้ลงไปปฏิบัติภารกิจ โดยพยายามร่วมมือกับประชาชนและเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างของชุมชนมากขึ้น ”
เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกนัก หากจะเปรียบกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นเสมือนโล่คุ้มภัยปกป้องสังคมท่ามกลางปัญหารุมเร้านานัปการ
“ ผมมองว่า ความมั่นของชาติ เป็นเหมือน ความมั่นคงของชีวิต คนที่ต้องการให้ชีวิตตนเองและคนในครอบครัวมั่นคง มักจะซื้อประกันไว้ แม้จะยังไม่เกิดอุบัติเหตุใดๆ แต่การมีประกันย่อมทำให้อุ่นใจได้มากกว่า สำหรับบางคนหากไม่มีสถานการณ์วิกฤตเกิดขึ้นอาจรู้สึกไม่ค่อยเห็นคุณค่าการประกันมากนัก
“ เช่นเดียวกับ สถาบันทหารและตำรวจ ก็เหมือนกับระบบประกัน เหมือนประเทศของเราซื้อประกัน เราจะรู้สึกหรือตระหนักว่ามีประโยชน์ ก็ต่อเมื่อเกิดปัญหา เกิดวิกฤตขึ้นทำให้ต้องพึ่งพา เมื่อเราได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ช่วยเหลือจากบุคคลในสถาบันเหล่านี้ เรียกได้ว่าเป็นสถาบันที่ประกันความมั่นคงของชาติ กองทัพที่เข้มแข็ง มีความพร้อมด้านกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ เรียกได้ว่าเป็นดัชนีชี้วัดความมั่นคงของชาติ ประเทศต่าง ๆ จึงต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องเหล่านี้ไว้เสมอ กองกำลังตำรวจที่เข้มแข็ง ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้เช่นกัน
“ กลุ่มบุคคลในสถาบันเหล่านี้จึงเป็นบุคคลสำคัญยิ่ง จำเป็นต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ภายในขอบเขต และใช้อำนาจด้วยความรับผิดชอบ โดยใช้เพื่อปกป้องประเทศชาติและประโยชน์สุขของตน ไม่ควรมีใครสักคนใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมเพื่อแสวงหาประโยชน์ต่อตนเอง และเอารัดเอาเปรียบประชาชน ”
เมื่อย้อนถึงเส้นทางชีวิตของชายหนุ่มผู้แบกประสบการณ์ชีวิตไว้เต็มหลังผู้นี้ ครอบครัว คือผู้มอบตะกร้าใบใหญ่ให้เขาเดินออกไปจับจ่ายความรู้เอามาเป็นทุนชีวิต
“ ผมก็โชคดีที่โตมาในครอบครัวที่มีองค์ประกอบดีๆ หลายอย่าง อันแรกก็คือเป็นครอบครัวที่ให้เสรีภาพกับลูกในการจะคิด ไม่ได้สั่งการให้เราทำคือโดยที่ไม่ได้คิดเองเป็น เราต้องคิดเองเป็น แล้วก็ไม่ได้เป็นครอบครัวที่ไม่ได้ให้เราใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย แม้ผมเกิดในครอบครัวที่มีฐานะใช้ได้ ก็รู้สึกเหมือนว่าเราถูกสอนให้ประหยัด อดออม ให้รู้จักไม่มองวัตถุเป็นของสำคัญ ให้รู้จักคุณค่าของความเป็นคน ถูกสอนให้เห็นความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสิ่งสำคัญมาก ”
การหล่อหลอมจากครอบครัว และสังคมที่ดีทำให้การเกิดผ่องถ่ายสิ่งดีๆ เหล่านั้นกลับสู่สังคมเมื่อเวลาและโอกาสมาถึง
“ อุดมการณ์ของผมเกิดจากหลายสิ่ง ผสมกันทำให้เวลาไปเรียนต่างประเทศผมก็เลือกเรียนในสิ่งที่ผมชอบทำให้มีความสุขกับสิ่งที่เราทำไม่ได้จำใจว่าเราต้องทำเพราะถูกบังคับด้วยกระแสสังคม แรงกดดันของครอบครัว ความจำเป็นในการอยู่รอดอนาคตของอาชีพ แต่เราเลือกกับสิ่งที่ตรงกับความถนัด ความสนใจ อุดมการณ์ถ้าใช้คำนี้ก็น่าจะถูกทำให้เรามีอุดมการณ์ชีวิตทำให้เรามีคุณค่า ทำให้เราไม่รู้สึกว่าเราเป็นทาสของระบบสังคม
“ แต่เราเป็นนายเหนือตัวเองที่มีสิทธิ์จะเลือกได้ทำให้เราทำไปอย่างมีความเต็มใจ สิ่งนี้ก็ทำให้เราเป็นอย่างนั้นเชื่อมั่นว่าจะทำหน้าที่ได้ดีที่สุด ถ้าเรามีความสุขในสิ่งที่เราทำแล้วผมก็มีความสุขทุกช่วงชีวิตตั่งแต่เกิดจนถึงวันนี้เลยครับ ”
ขณะที่หลายคนมีทิศทางการดำเนินชีวิตหลายรูปแบบ แต่เด็กชายเกรียงศักดิ์ กำหนดทิศชีวิต และทำตามวิถีทางที่วางไว้ได้อย่างสมบูรณ์ในแบบฉบับของผู้ชายคนหนึ่ง(ที่ไม่ใช่ผู้วิเศษ)
“ ทิศทางผมง่ายมากเลยครับ เพราะผมสรุปมาแต่เด็กแล้วว่าผมอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทิ้งมรดกความประพฤติที่ทำให้ประเทศไทยดีขึ้นกว่าเดิม มีส่วนช่วยพัฒนาสร้างสรรค์ประเทศชาติให้น่าอยู่ แก้ปัญหาที่มีอยู่ในสังคมไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก็คืออุดมการณ์
“ ใช้ชีวิตเพื่อสร้างสังคมประเทศชาติเมื่อเด็กคิดอย่างนั้น เพราะได้ทำกิจกรรม พอเรียนหนังสือก็เลยตัดสินใจตามกระบวนคิดของโลกทัศน์ที่มีอยู่ นั่นก็คือผมอยากจะเรียนสิ่งที่ตรงกับความถนัด นำเอามาใช้ประโยชน์ได้จริงในการพัฒนาบ้านเมือง ผมก็เลยเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ ความจริงผมมีโอกาสได้เรียนแพทย์ มีโอกาสได้เรียนวิศวกรรมศาสตร์ ผมเป็นนักเรียนทุนที่มีโอกาสได้ทำ แต่ผมเองเลือกสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นภาพรวม มหภาคของสังคม ”
ซึ่งผลผลิตทางความคิดของเขาได้ถ่ายทอดออกเป็นบทบันทึกทางสังคมในรูปแบบหนังสือ ตามเจตนารมณ์อันแรงกล้า
“ ถ้าเราเขียนหนังสือวันนี้เราตายผุพังเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยไปแต่ความคิดเราอยู่ถ้าเขียนหนังสือ อุดมการณ์ก็ผลักดันผมให้เขียนหนังสือเพื่อทิ้งความคิดให้คนอื่นช่วยทำ ถ้าเราทำไม่เสร็จการเขียนหนังสือก็เป็นวิถีทางปัญญาในการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ผมสรุปมาแล้วตั่งแต่ต้นว่าวิถีทางในการทางความคิดสำคัญที่สุด
“ เป็นปัญญาชนที่สำคัญคือ การค้นหาองค์ความรู้ กระจายองค์ความรู้ช่วยสังคมไปผมจึงเลือกวิถีการเป็นครูบาอาจารย์ด้วยอุดมการณ์อีกเหมือนกัน เขียนหนังสือก็ด้วยอุดมการณ์ ตั้งบริษัทพิมพ์หนังสือขึ้นมา ผมเป็นประธานกรรมการกลุ่มบริษัท ซัคเซส และก็มีบริษัทหลายอย่าง คือถ้าไปดูมันจะตรงกับอุดมการณ์ เช่นมีสำนักพิมพ์ก็เพื่อจะเผยแพร่ความรู้ให้กว้างที่สุดที่ประเทศไทย ต่างประเทศก็เพื่ออุดมการณ์เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ก็เพื่อเผยแพร่ความคิดของอุดมการณ์ การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก็เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความคิด ให้คนไทยได้รับแง่คิดเพื่อจะช่วยกันสร้างสรรค์ประเทศสังคม
“ ทุกอิริยาบถที่ผมทำมันถูกควบคุมด้วยโลกใบนี้คนที่ผมต้องการเห็นประเทศชาติเชิงบวกตั้งแต่เด็ก ”
จากนักคิด นักเขียน สู่การเป็นที่ปรึกษา หนึ่งในเซลล์สมองของการพัฒนาชาติ
“ การไปเป็นที่ปรึกษาในวุฒิสภาและที่ปรึกษาในสภาผู้แทนราษฎรในคณะต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมาก็ทำให้อุดมการณ์ของเราไปใส่ในมือของผู้ที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเพื่อจะไปแก้กฎหมาย เพื่อจะไปทำหน้าที่ในบ้านเมืองให้เป็นไปตามที่เราคิดว่าดี ก็เพื่ออุดมการณ์ก็เต็มใจไปช่วยแม้ไม่ได้อะไรเลย
“ ไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีก็ดี เป็นที่ปรึกษามายกรัฐมนตรีก็ดี ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็ดี ก็ด้วยอุดมการณ์ก็ถือว่าเค้าถืออำนาจรัฐเราสามารถ ถ้าจะมีคำแนะนำที่ดีมีส่วนช่วยโดยทำหน้าที่อยู่เบื้องหลังที่ดี ก็คือการช่วยชาติ ผมก็เลยไม่ได้แบ่งว่าเป็นพรรคใดไม่ได้ถือว่าทุกคนต้องดีบริสุทธิ์ เลิศล้ำ แต่ขอให้ทำหน้าที่จุดไหนดี ก็ช่วยส่งเสริมเขาไปเพื่อให้บ้านเมืองได้อานิสงส์ผมก็ยินดีเต็มใจกว้าง
“ จะเห็นว่าผมช่วยกว้างขวางหมดทุกพรรคแบบที่ไม่ได้ฝักใฝ่ แต่หวังว่าจะได้ให้ประโยชน์กับประเทศชาติเพื่ออุดมการณ์ถ้าเราพาตัวถอยห่างมาไกลแล้วไม่เข้าไปช่วย แล้วเราปล่อยเขาเขาก็ไม่ได้คำแนะนำที่เราคิดว่าน่าจะได้ประโยชน์ก็ทำเพื่ออุดมการณ์อีก
“ ไปทำที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ยังเป็นองค์กรในรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่โดยตรงมีกฎหมายรองรับทั้งรัฐธรรมนูญ ทั้งพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติที่มีหน้าที่เทียบรัฐมนตรี อันนี้ก็ตรงเลยหวังว่าจะไปทำให้รัฐมนตรีทำสิ่งที่ดีๆ ก็อุดมการณ์ ”
บางทีการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอาจะไม่เป็นไปดั่งใจหมาย กลับกลายเป็นพลังให้นักวิชาการเปลี่ยนบทบาทมาเป็นนักการเมืองเต็มตัว
นอกเหนือจากการเป็นนักวิชาการ เขาคือนักเดินทาง กับประสบการณ์ชีวิตของนักเดินทางผู้มากมิตร ในความรู้สึกที่ว่า ถ้าหากวันหนึ่งไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย เดินไปเคาะประตูบ้านเพื่อนๆ จะได้รับอะไรตอบกลับมา
“ ผมเป็นคนซึ่งถือว่ามิตรภาพไมตรีจิตเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง สะสม 3 อย่างเท่านั้นในชีวิต นอกนั้นไม่ได้สะสมมันมาเอง อาจจะมีบ้างบางอย่างโดยที่ไม่ได้สะสมแต่ตั้งใจสะสมมี 3 อย่าง 1.มิตรภาพ 2.หนังสือ 3.ความคิด ความคิดก็แปลมาเป็นข้อเขียน สัญลักษณ์ของความคิดคือปากกา หนังสือนี่สะสมเพราะเป็นภูมิปัญญาความรู้ โลกขับเคลื่อนด้วยความรู้ มิตรภาพนี่ทำให้ชีวิตมีความสุข ผมตั้งใจสะสมผมมีเพื่อนมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทย ผมสามารถอาศัยนอนบ้านเพื่อนได้ทุกที่โดยไม่ต้องใช้โรงแรมถ้าไม่อยากใช้
“ ฉะนั้นทั่วโลกผมก็มีเพื่อนมากมายมหาศาล ผมคิดว่าผมเป็นคนโชคดีมีเพื่อนมาก มิตรภาพไมตรีจิตนั้นเป็นสิ่งที่ดีเลิศมีคุณค่า แต่จะมีได้โดยต้องไม่เอาเปรียบเพื่อน ต้องหวังดีกับเพื่อนต้องไม่คบกันด้วยผลประโยชน์ แต่เมื่อเรายิ่งคบกันแล้วไม่ได้คิดจะเอาประโยชน์ แต่เราหวังจะให้ประโยชน์ แน่นอนเราต้องพึ่งพากันเพราะถ้าเพื่อนมีน้ำใจต่อเราในยามจำเป็นมันก็ทำให้เกิดความรู้สึกขอบคุณที่เขานึกถึงเรา แต่การตั้งใจจะไปขออะไรใครผมไม่มี ยกเว้นแต่ไปขอเพื่อเพื่อนสนิทเป็นส่วนใหญ่ขอเพื่อตัวเองแทบไม่เคยทำ ส่วนใหญ่จะไปขอเพื่อนเพื่อช่วยกันทำต่อๆ
“ การพึ่งพากันก็เป็นเรื่องธรรมดา เราทุกคนโยงใยกันไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่พึ่งคนอื่น ผมก็คิดว่าวันไหนผมจะไปหาใคร ผมเชื่อมั่นว่าเพื่อนๆ ผมส่วนใหญ่จะตอบสนองนะครับ ”
ในภาวะที่ระบบอุปถัมภ์ถูกวิพากษ์หนาหูโดยเฉพาะในฟากการเมือง และธุรกิจ เมืองไทยในสายตาของผู้มากบทบาทชีวิต น่าคิดนัก...
“ ผมว่าระบบอุปถัมภ์เป็นระบบที่อยู่ในสังคมไทยแบบลึกซึ้งมาก ตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบันไม่ได้หายไปไหน เพียงเปลี่ยนหน้ากาก เปลี่ยนรูปแบบการแสดงออกเท่านั้นเอง ซึ่งก็หวังลึกมากในสังคมไทย เราก็รู้ว่าถ้าเราอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของใครก็มีประโยชน์เจือสมกันทั้ง 2 ฝ่าย" ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กล่าว
“ ฉะนั้นระบบนี้ถ้าใช้ทางที่ถูกก็ดี แต่ถ้าใช้ทางที่ผิดก็เสียหายหนักมันทำให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก ทำให้ระบบคุณธรรมไม่เกิด แต่เครือญาติเพื่อนฝูงได้ประโยชน์ แต่คนอื่นไม่ได้ประโยชน์และกีดกันคนดีด้วย ฉะนั้นระบบอุปถัมภ์จึงควรใช้ในทางที่ถูก ก็คือมีน้ำใจกับคนอื่น ไม่ใช่อุปถัมภ์แต่ตัวเอง แต่อุปถัมภ์คนอื่นโดยใช้หลักเกณฑ์ที่มีความเป็นธรรม ”
เมื่อนักคิดที่ชื่อ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ลองทำนายอนาคต(โดยนำสถานการณ์ปัจจุบันมาประกอบ)
“ ทิศทางของประเทศไทยพุ่งไปทางทิศเดียวกันกับสังคมโลกที่กระแสพาไป แต่ตรงรอยต่อเป็นรอยต่อที่มีความขัดแย้งทำยังไงจะจัดการเพื่อให้คนบางกลุ่มไม่เสียผลประโยชน์ในเชิงเขาเดือดร้อนสาหัส ทำยังไงจะกระจายผลประโยชน์ให้ทั่วถึง และตรงรอยต่อนั้นไม่ทำให้ผู้อ่อนด้อย เสียเปรียบถูกทอดทิ้งอย่างโหดร้ายเพราะสังคมที่ต่อสู้กันแบบมีผู้แพ้ผู้ชนะอย่างเดียวจะทำให้ผู้แพ้ที่แพ้ถาวรไม่มีปัญญาลุกขึ้นชนะ บางเรื่องจะเป็นผู้ที่ตกเวทีโลกสูญเสียโอกาสไปมาก ตกทุกข์ได้ยากมาก ต้องมีเมตตาธรรมต่อกันสังคมที่มีคุณธรรมจึงสำคัญในโลกที่ใช้ประสิทธิภาพวัดกันแข่งขันกันอย่างสุดๆ ”
“ ระบบการแข่งขันเป็นธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้นเพื่อจะพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพ กระแสโลกได้บีบเราแต่จำเป็นต้องมียีนส์สำหรับซึ่งคนอ่อนแอ ที่แข่งไม่ไหวเศรษฐกิจพอเพียงจึงมีมีความสำคัญสำหรับโดยที่ยิ่งไม่ต้องการการแข่งขันจนเกินตัวไป ”
“ การมองทุกมิติวันนี้ตาผมสว่างขึ้นในการที่ตกผลึกในการที่อ่านมามากก็ดี วิจัยมามากก็ดี เล่นบทบาทมาหลายบทบาทในสังคมก็ดี บังเอิญเป็นคนโชคดีที่เป็นรอยต่อของหลายบทบาทมาก ซึ่งน้อยคนจะมีโอกาสเหมือนผม ผมมีบทบาททั้งทางวิชาการ บทบาททั้งทางธุรกิจบทบาทในการบริหาร บทบาทกับการทำงานกับมวลชน บทบาททั้งการเป็นสื่อมวลชนขยายต่อมาจากทางวิชาการ บทบาททางภาคราชการ บทบาททางภาคเอกชน บทบาททางการเมือง" ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ย้ำเพิ่ม
“ ถนนหลายสายชีวิตมันตัดกันจนทำให้เห็นบูรณาการตรงนี้ทำให้ผมรู้สึกเหมือนมันมีปิ๊งขึ้นอยู่กลางสมอง มีเส้นทางการใช้ชีวิตเป็นประโยชน์ที่สุดนี่ ในสิ่งที่เป็นประสบการณ์ที่เราวิวัฒนาการมาต้องเป็นอย่างไร ก็เลยทำให้ผมเห็นภาพครบมิติมากขึ้นเพราะมันเมื่อเห็นภาพครบมิติก็ขับเคลื่อนพฤติกรรมให้ครบมิติมากขึ้นครับ ”
“ ฉะนั้นชีวิตคนต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องพัฒนาคน พัฒนานิสัยตลอดชีวิต ผมคิดว่านิสัยเป็นฐานสำคัญที่สุดกว่าความรู้ ทักษะ ผมก็ตั้งใจอยากที่จะทำอย่างนั้นก็มีอะไรดีๆบ้างที่มีอิทธิพลต่อลูกศิษย์ ผมก็ดีใจที่เค้าจะได้เลียนแบบเรา ” ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กล่าว
ผลลัพธ์แห่งการกระทำและความภาคภูมิใจในชีวิตที่ผ่านมา 5 ทศวรรษ ไม่มีอะไรมากไปกว่าผลผลิตทางสังคมที่จะได้รับการเพาะพันธุ์อย่างเอาใจใส่และกำลังเติบโตมอบผลิตผลเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า “ ผมภาคภูมิใจมากที่สุดก็คือสิ่งที่ผมคิด สิ่งที่ผมมอง สิ่งที่ผมกระทำนั้นได้ปรากฏในบางด้านของลูกๆ ของผมนั่นเป็นการบอกถึงว่าคนที่ใกล้ตัวสุด ทำยากสุดลูกผมทั้ง 2 คนก็ได้ค่านิยมที่ดีผมไปบางอย่างผมไม่ได้ถือว่าเค้าดีเลิศสมบูรณ์แบบ แต่เค้าเป็นคนค่อนข้างดีในสายตาผม เช่นลูกชายคนโตผมก็ประสบความสำเร็จในการเรียน คนเล็กก็เช่นกัน ”
“ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เกิดได้ในชีวิตจริงของคนใกล้ตัวเรา เป็นความดีใจว่าเรานั้นไม่ได้พร่ำสอนคนอื่นให้การศึกษาไทยดีแต่แล้วลูกตัวเองล้มเหลวก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี ผมดีใจที่ลูกเราโตมาไม่ได้ทำร้ายใคร ไม่ได้คิดจะไปโกงไป มุ่งมั่นอยู่ในคุณหลักธรรมพอสมควรทีเดียว ผมคิดว่าอันนี้ทำให้ภูมิใจและดีใจว่าลูกเรานั้นเป็นคนดี ผมภูมิใจที่สุดยิ่งกว่าการเรียนอีกครับ ลูกผมเรียนอยู่ที่เมืองนอกครับเมื่อก่อนตอนเด็กๆ ก็เรียนอยู่ใกล้กันแต่ว่าตอนเขาโตขึ้นแล้วเขาก็อยู่ต่างประเทศเราก็ติดต่อกันครับ อีเมล์ติดต่อกัน คุยโทรศัพท์มาเยี่ยมทีไรก็ยังคุยอยู่เค้าก็โตแล้วก็ไม่ค่อยลำบากแล้ว ”
Thank you.
ReplyDeleteการค้นหาองค์ความรู้ สู่การเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้บ้านเมืองได้อานิสงส์
ReplyDelete