Monday, October 3, 2011

Professor Kriengsak Chareonwongsak and article

Comparative Advantage by Professor Kriengsak Chareonwongsak
ทฤษฎีลิงกระโดดต้นไม้... นัยต่อการกำหนดทิศทางประเทศ

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์  กรุงเทพธุรกิจ  วันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2550

ตามทฤษฎีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) เมื่อประเทศต่างๆ ทำการค้าระหว่างประเทศ จะทำให้ประเทศเหล่านั้นมั่งคั่งมากขึ้น แต่คำถามคือ เหตุใดหลายประเทศในโลก แม้ส่วนใหญ่ได้เปิดประเทศ เพื่อทำการค้าระหว่างประเทศแล้ว แต่ประชาชนยังคงยากจนอยู่ (ทั้งนี้ไม่รวมถึงผลกระทบของการค้าที่ไม่เป็นธรรม และการผูกขาดภายในประเทศ) คำถามดังกล่าวมีความน่าสนใจอย่างยิ่งในเชิงการกำหนดนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาความสามารถในการแข่งขัน และความยากจน โดยเฉพาะในยุคที่โลก ถูกผลักไปในทิศทางของการเปิดเสรีทางการค้า และสังคมไทยกำลังถกเถียงกันว่า ทิศทางด้านเศรษฐกิจของประเทศควรเป็นอย่างไร

ผมได้มีโอกาสไปทำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้รู้จักศาสตราจารย์ ริคาร์โด เฮาส์แมนน์ (Ricardo Hausmann) ซึ่งสอนวิชาที่ชื่อว่า "ทำไมหลายประเทศยังยากจน" ใน Kennedy School of Government ศาสตราจารย์ท่านนี้ เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีการคลังของประเทศเวเนซุเอลา และได้คิดทฤษฎีที่มีชื่อว่า "ทฤษฎีลิงกระโดดต้นไม้"

ศาสตราจารย์เฮาส์แมนน์ เชื่อว่า การพัฒนาประเทศในระยะยาว เกิดจากการเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศ (Structural Transformation) แต่คำถามอยู่ที่ว่า ทำไมการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของแต่ละประเทศจึงต่างกัน ซึ่งส่งผลทำให้บางประเทศร่ำรวย แต่อีกหลายประเทศยังยากจนอยู่

จากการศึกษาด้วยการสังเคราะห์ทฤษฎีต่างๆ และพยายามหาหลักฐานจากประเทศทั่วโลก ศาสตราจารย์เฮาส์แมนน์ ได้ข้อสรุปในเชิงทฤษฎีว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับ ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบแต่เดิมของประเทศนั้นว่าอยู่ที่ผลิตภัณฑ์ชนิดใด และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงนั้น เป็นไปได้ยากหรือง่าย

หากเปรียบเทียบบริษัทต่างๆ เหมือนกับลิงที่กระโดดจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังต้นไม้อีกต้นหนึ่ง ในขณะที่ป่า หมายถึงทางเลือกของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด และต้นไม้แต่ละต้นคือ ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด โดยที่แต่ละต้น มีความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกัน เปรียบได้กับผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทที่มีผลิตภาพ (Productivity) แตกต่างกัน

ลิงแต่ละตัวต้องพยายามกระโดดไปยังต้นไม้ที่อุดมสมบูรณ์ แต่มีข้อจำกัดคือมันไม่สามารถกระโดดไปต้นที่อยู่ไกลเกินไปได้ เนื่องจากการผลิต ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดคือ ต้องการสินทรัพย์ (Assets) และความสามารถ (Capability) ในการผลิตที่ต่างกัน

ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้เร็ว เกิดจากการที่ประเทศนั้นเริ่มต้นพัฒนาความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ในผลิตภัณฑ์ที่สามารถ "กระโดด" ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูงได้ง่าย เช่น อุตสาหกรรมเบา อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าทุน ขณะที่บางประเทศมีความสามารถในการแข่งขันในผลิตภัณฑ์ที่กระโดดไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูงได้ยาก เช่น น้ำมันดิบ สินค้าเขตร้อน และวัตถุดิบต่างๆ

จากทฤษฎีลิงกระโดดต้นไม้ทำให้เกิดคำถามต่อไปว่า แล้วประเทศไทยควรกำหนดทิศทางอย่างเจาะจงหรือไม่ว่า ควรปรับโครงสร้างไปสู่ผลิตภัณฑ์ประเภทใด

ทั้งนี้เพราะการพัฒนาอุตสาหกรรมทั่วโลกแบ่งได้เป็นสองแนวทาง คือ การปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ดังตัวอย่างของประเทศสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และฮ่องกง อีกแนวทางหนึ่งคือ การแทรกแซงโดยรัฐบาล เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ ดังที่ปรากฏในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน

ทั้งสองแนวทางมีประเทศที่ประสบความสำเร็จ และมีทั้งข้อดี และข้อเสีย กล่าวคือ แนวทางที่ยึดกลไกตลาด อาจจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ แต่การปรับโครงสร้างจะล่าช้า และมีต้นทุนการปรับโครงสร้างสูงมาก

ขณะที่การแทรกแซงโดยรัฐบาลจะทำให้การปรับโครงสร้างรวดเร็ว แต่จะเป็นการบิดเบือนกลไกทางเศรษฐกิจ และมีความเสี่ยงว่ารัฐบาลอาจจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ผิดประเภท ซึ่งไม่สามารถแข่งขันได้จริง

ศาสตราจารย์เฮาส์แมนน์ ได้ตอบคำถามนี้โดยอธิบายว่า การพัฒนาอุตสาหกรรม (Open Forest) เป็นการพัฒนาความสามารถที่เฉพาะเจาะจงขึ้นมาอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการไหลล้น (Spill Over) ของความสามารถดังกล่าวไปสู่อุตสาหกรรมเดียวกันและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้ความสามารถคล้าย ๆ กันด้วย และเมื่อมีการพัฒนาความสามารถแบบที่ต้องการได้แล้ว ประเทศจึงสามารถเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่การผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเป้าหมายได้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ประเทศต้องการ จะไม่เกิดขึ้นด้วยกลไกตลาด เพราะการไหลล้นของเทคโนโลยี หรือความสามารถใหม่ๆ นั้นเป็นผลประโยชน์ที่สังคมได้รับ แต่ผู้ที่พัฒนาเทคโนโลยีหรือความสามารถใหม่ๆ กลับต้องแบกรับต้นทุนไว้ทั้งหมด (Positive Externality) ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้กลไกตลาดล้มเหลว (Market Failure) ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเข้าไปมีบทบาท ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมบางชนิด เพื่อจะสามารถ "กระโดด" ไปสู่อุตสาหกรรม ที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้

ประการสำคัญ รัฐบาลต้องช่วยผลักลิงให้กระโดดไปยังต้นไม้ที่คนทั้งประเทศได้ประโยชน์ในระยะยาว ไม่ใช่เพียงทำให้คนในรัฐบาลได้ประโยชน์ เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา
บทความ ของ ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate) credit by www.kriengsak.com

2 comments:

  1. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับ ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบแต่เดิมของประเทศนั้นว่าอยู่ที่ผลิตภัณฑ์ชนิดใด และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงนั้น เป็นไปได้ยากหรือง่าย

    ReplyDelete
  2. ทำไมการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของแต่ละประเทศจึงต่างกัน

    ReplyDelete