Monday, August 22, 2011

ตัวเลขเศรษฐกิจ สะท้อนถึงความอ่อนแอของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิ


คอลัมน์ : แนวคิด ดร.แดน


คอลัมน์ : แนวคิด ดร.แดน
หลังจากที่สภาคองเกรสมีมติรับรองการขยายเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาลสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านล้านเหรียญฯ ทำให้วิกฤตการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐสามารถผ่านพ้นไปได้อย่างฉิวเฉียด และทำให้รัฐบาลมีเงินไปชำระหนี้และใช้จ่ายอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2556 รวมทั้งยังทำให้อันดับความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูงสุด คือ AAA ต่อไปได้
ถึงกระนั้นการขยายเพดานหนี้ดังกล่าวต้องแลกมาด้วยเงื่อนไขการตัดลดรายจ่ายลง 2.5 ล้านล้านเหรียญฯ ภายใน 10 ปี เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ และสร้างวินัยทางการคลัง ซึ่งหมายความว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในอีก 10 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากรายจ่ายในกิจกรรมของรัฐบาลลดลง และรัฐบาลอาจต้องจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ของภาครัฐ

สหรัฐดูเหมือนยังไม่ฟื้นตัว ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ สะท้อนถึงความอ่อนแอของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐดูเหมือนยังไม่ฟื้นตัว ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ สะท้อนถึงความอ่อนแอของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าที่คาด อัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และการใช้จ่ายของประชาชนที่ชะลอตัว เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรปที่ต่างประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน
ภาวะดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐและสหภาพยุโรปสูงถึงประมาณร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย เศรษฐกิจของตะวันตกที่ชะลอตัวลงย่อมส่งผลทำให้กำลังซื้อชะลอตัวลง ทำให้การส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ชะลอตัวลงด้วย
ปัญหาหนี้สาธารณะยังส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นต่อสกุลเงินตราของประเทศเหล่านี้ลดลง ประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มลดสัดส่วนของเงินสกุลดอลลาร์ฯและยูโรในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลง เช่นเดียวกับนักลงทุนที่หันไปถือสินทรัพย์อื่นแทนสกุลเงินดังกล่าว รวมทั้งย้ายเงินลงทุนเข้ามาในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะในเอเชีย ทำให้เงินสกุลดอลลาร์ฯและยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาทและเงินสกุลท้องถิ่นของเอเชีย การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐและยุโรปจึงมีปัญหามากขึ้น
การหันไปถือสินทรัพย์ของนักลงทุนจะทำให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะทองคำ และตราสารการเงินที่ผูกติดกับราคาน้ำมัน สินแร่ และสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งอาจทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เพราะสินทรัพย์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับราคาปัจจัยการผลิตและราคาสินค้า ซึ่งเป็นที่ต้องการของเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ยังมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง

ทางด้านการลงทุนที่เคลื่อนย้ายเข้ามายังเอเชียโดยส่วนใหญ่อาจไม่ใช่การย้ายฐานการผลิตหรือการลงทุนโดยตรง แต่เป็นการลงทุนเพื่อเก็งกำไรหรือแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าในระยะสั้น เนื่องจากทางการของประเทศในเอเชียมีแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อป้องกันปัญหาเงินเฟ้อ กระแสการลงทุนดังกล่าวนอกจากจะทำให้ค่าเงินบาทแล้ว อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงด้านค่าเงินเพิ่มสูงขึ้น
การบริหารเศรษฐกิจในสถานการณ์เช่นนี้จึงมีความสำคัญมาก โดยทิศทางนโยบายเศรษฐกิจควรหันมาเน้นการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่เป็นกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ และเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการส่งออกในปีที่ผ่านมาได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรป แต่ปัญหาหนี้สาธารณะจะทำให้รัฐบาลสหรัฐและยุโรปมีความจำกัดมากขึ้นในการอัดฉีดงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันรัฐบาลใหม่และธนาคารแห่งประเทศไทยควรประสานนโยบายการเงินและการคลังเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วย

ขณะเดียวกัน สถานการณ์เช่นนี้มีความเหมาะสมสำหรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับการผลิตให้มีผลิตภาพสูงขึ้น มูลค่าเพิ่มมากขึ้น และมีนวัตกรรมมากขึ้น (สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลใหม่ที่ต้องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ) โดยการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงจากต่างประเทศ การสนับสนุนการนำเข้าเทคโนโลยี เครื่องจักรและบุคลากรระดับสูงจากต่างประเทศ และย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปสู่ประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงงานต่ำ
ไม่เพียงแต่แรงกดดันจากความคาดหวังของประชาชนที่จับจ้องการดำเนินนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้เท่านั้น รัฐบาลใหม่ยังต้องเผชิญแรงกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงด้วย การจัดการเศรษฐกิจในภาวะปัจจุบันจึงมีความสำคัญและต้องระมัดระวังอย่างมาก ซึ่งไม่เพียงแต่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้น แต่ควรหวังผลการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

No comments:

Post a Comment