Wednesday, July 28, 2010

Professer Kriengsak Chareonwongsak and social work

งานสังคม (social work) หมายถึง งานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยแก้ปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีปัญหา หรือไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ตัวอย่างของงานสังคมที่พบอยู่ในประเทศไทย อาทิเช่น งานสังคมสงเคราะห์ งานสาธารณประโยชน์ งานพัฒนาชุมชน ประชาสังคม การเรียกร้องสิทธิของผู้ที่ยากไร้และขาดอำนาจต่อรอง ฯลฯ

ผู้ที่ทำงานสังคมจำนวนมากเป็นผู้ที่ตระหนักถึงความสำคัญหรือรุนแรงของปัญหาสังคม และเสียสละตัวเอง และอาสาตัวเข้าไปทำงานนั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน เช่น อาสาสมัคร ผู้นำชุมชน ผู้ที่ทำงานในมูลนิธิ หรือสมาคมต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ผลงานวิจัยและข้อมูลที่ปรากฏยืนยันว่า การทำงานสังคมโดยอาสาสมัคร และองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากในประเทศไทย ยังขาดประสิทธิภาพ ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแนวความคิดของผู้ที่ทำงานสังคม ที่เน้นการให้โดยไม่หวังผลตอบแทนหรือแสวงหากำไร จึงอาจทำให้เขาละเลยที่จะประเมินประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร และผลที่ได้รับจากการทำงานเพื่อสังคม

แม้ว่าผู้ที่ทำงานสังคมจะไม่ได้มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ แต่ผมเห็นว่า ผู้ที่ทำงานสังคมไม่ควรละเลยแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ เพราะผมเชื่อว่า หากเขาเหล่านั้นนำวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในงานสังคม จะทำให้การใช้ทรัพยากรและการทำงานสังคมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่ไม่ทำให้เขาต้องสูญเสียอุดมการณ์แต่อย่างใด

โดยผมขอนำเสนอแนวคิดเศรษฐศาสตร์บางแนวคิดในบทความนี้
ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost)
ต้นทุนค่าเสียโอกาส หมายถึง ผลตอบแทนที่มากที่สุดจากทางเลือกที่ไม่ถูกเลือก หรืออธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า หากเรามีทางเลือกในการใช้ทรัพยากรอยู่หลายทาง แต่ละทางเลือกมีผลตอบแทนจากการใช้ทรัพยากรไม่เท่ากัน หากเราเลือกทางเลือกที่มิได้ให้ผลตอบแทนมากที่สุด ต้นทุนค่าเสียโอกาสจะมีค่าเท่ากับทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด

แต่หากเลือกทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด ต้นทุนค่าเสียโอกาส จะมีค่าเท่ากับทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนมากเป็นอันดับสอง ต้นทุนค่าเสียโอกาสแตกต่างจากต้นทุนทางบัญชีที่มองเฉพาะต้นทุนทางการเงินเท่านั้น แต่นักเศรษฐศาสตร์นำค่าเสียโอกาสมาคำนวณเป็นต้นทุนด้วย

การทำงานสังคมจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเช่นเดียวกับงานประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเงิน วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ และแรงงาน แต่ผู้ที่ทำงานสังคมส่วนหนึ่งอาจละเลยต้นทุนค่าเสียโอกาสในการนำทรัพยากรต่างๆ มาใช้ในการทำงานสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นทุนที่ไม่เป็นตัวเงินหรือต้นทุนที่มองไม่เห็น (implicit cost) เช่น ต้นทุนแรงงานที่เป็นอาสาสมัครในงานเพื่อสังคม ซึ่งอาจจะไม่ถูกนำมาคิดเป็นต้นทุนในการทำงาน หรือไม่ถูกนำมาคิดในการประเมินผลการทำงานสังคม

ยิ่งไปกว่านั้น งานสังคมจำนวนหนึ่งอาจใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น (Overcapacity) โดยเฉพาะการระดมอาสาสมัครจำนวนมากเกินกว่างานที่มีอยู่หรือคนล้นงาน และการใช้คนที่ไม่เหมาะสมกับงานหรือให้งานที่ไม่ถนัดหรือต่ำกว่าระดับความสามารถ เช่น นักวิชาการอ่านหนังสือบันทึกเสียงให้คนตาบอดฟัง แพทย์เดินรับบริจาคเงิน นักธุรกิจไปเยี่ยมชนบท

แม้ว่าการทำงานอาสาสมัครเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ดี แต่มีต้นทุนค่าเสียโอกาสเป็นจำนวนมาก และอาจมีทางเลือกอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการทำงานสังคม

ผลตอบแทนต่อสังคมมากกว่าต้นทุนต่อสังคม

แนวคิดอีกประการที่ผู้ทำงานสังคมควรคำนึงถึง คือ การใช้ทรัพยากรเพื่อทำงานสังคม
ต้องทำให้เกิดผลตอบแทนต่อสังคมหน่วยสุดท้าย (Marginal Social Benefit) มากกว่า ต้นทุนต่อสังคมหน่วยสุดท้าย (Marginal Social Cost)
หมายความว่า ต้นทุนแต่ละหน่วยที่สังคมต้องจ่ายเพิ่มเข้าไปในงานสังคมนั้น จะต้องให้ผลตอบแทนต่อสังคมเพิ่มขึ้นมากกว่าต้นทุนที่เพิ่มเข้าไป จึงจะเรียกได้ว่า เป็นการทำงานสังคมที่มีประสิทธิภาพ
การตัดสินใจของผู้ที่ทำงานสังคมในการเลือกว่า จะทำงานสังคมประเภทใด และใช้ทรัพยากรสำหรับแต่ละงานเท่าไร ควรพิจารณาด้วยหลักการข้างต้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ทำงานสังคมจึงจำเป็นต้องพิจารณาปัญหาสังคม และทางเลือกในการทำงานสังคมให้กว้างขึ้น เพื่อที่จะเลือกและจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ไปในงานที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนมากที่สุด และทำให้ปัญหาสังคมได้รับการแก้ไข และผู้ที่มีปัญหาได้รับการช่วยเหลือในระดับที่เหมาะสมและทั่วถึง

ประการสำคัญผู้ทำงานสังคมควรพิจารณาศักยภาพของตน เครือข่ายอาสาสมัครและทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อจัดสรรกำลังคนและทรัพยากรไปในงานที่เหมาะสม ในปัญหาสังคมหนึ่งๆ ผู้ทำงานสังคมต้องพิจารณาว่าวิธีการทำงานแบบใด ที่มีต้นทุนต่ำและผลตอบแทนต่อสังคมสูงสุด

ผู้ทำงานสังคมบางท่านอาจมีศักยภาพในการบริหารธุรกิจมากกว่าการทำงานสังคมโดยตรง ดังนั้น การที่เขาผันตัวเองไปเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) โดยทำธุรกิจเพื่อหาเงินมาทำงานสังคม หรือเป็นนักธุรกิจเพื่อหาเงินมาบริจาคให้กับคนที่ทำงานสังคม หรือจ้างคนมาทำงานสังคม อาจเป็นทางเลือกที่มีต้นทุนค่าเสียโอกาสต่ำกว่า และเกิดประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าการลงไปทำงานสังคมด้วยตนเองโดยตรง
เช่น บิล เกตส์ ควรทุ่มเทเวลาทำงานกับบริษัทไมโครซอฟท์ แล้วนำกำไรไปสนับสนุนคนอื่น หรือหน่วยงานอื่นทำงานแก้ปัญหาสังคม น่าจะดีกว่าผันตัวมาเป็นผู้ทำงานสังคมโดยตรง

ในสภาวะที่การทำงานสังคมในประเทศไทยมีทรัพยากรจำกัด หากผู้ทำงานสังคมนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ น่าจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากร และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการตอบสนองความต้องการทางสังคม และการแก้ปัญหาสังคมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

Friday, July 16, 2010

Professor Kriengsak Chareonwongsak and thought about family

"ข้อคิดเพื่อครอบครัว” จาก ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์


1. ข้อสำคัญของการเลือกคู่ คือ เราไม่ได้เลือกใครเพราะเขาสมบูรณ์แบบ แต่เพราะเขามีจุดดีหลักๆ ที่เราประทับใจ ส่วนจุดอ่อนด้อยนั้น เป็นส่วนปลีกย่อยที่เราสามารถยอมรับได้อย่างไม่ยากเย็น

2. ในความเป็นจริงไม่มีใครดีเลิศสมบูรณ์แบบ ถ้าเรามองไม่เห็นจุดอ่อนด้อยของเขาเลย นั่นแสดงว่า เรายังไม่รู้จักเขาอย่างแท้จริง หรือไม่เราก็กำลังตกอยู่ในความหลงใหล จนไม่ลืมหูลืมตา

3. การแต่งงาน คือ การผูกพันกันด้วยหัวใจ ไม่ใช่เพียงร่างกาย และยิ่งไม่ใช่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เชิงธุรกิจ

4. คนที่แต่งงานเพราะความเหงา จะยิ่งเหงาหนักเป็น 2 เท่า แต่งงานแบบคลุมถุงชน ก็มีแนวโน้มว่า ชีวิตจะมืดมนไปอีกนาน

5. ความสุข ความทุกข์ ครึ่งหนึ่งอยู่ที่ชีวิตหลังแต่งงาน คิดให้ดีก่อนที่จะเลือกใครมาเป็นคู่ชีวิต ...

6. บ้านจะเล็กหรือใหญ่ไม่สำคัญ แต่ "ความรัก" ต้องใหญ่ที่สุดในบ้าน

7. คำว่า "รัก" พูดมากไป ย่อมดีกว่า พูดน้อยไป...

8. เมื่อเรา ทำผิดจง "ขอโทษ" เมื่อเขา ทำผิด ....จง "ให้อภัย"

9. ชีวิตแต่งงาน คือ ชีวิตแห่งการปรับตัว ถ้าไม่คิดจะปรับตัวเข้าหาใคร อยู่เป็นโสดไป ก็ดีกว่า...

10. ยอมเป็นผู้แพ้ ดีกว่า เป็นผู้ชนะที่ยืนอยู่ท่ามกลางซากชีวิตสมรสที่หักพัง...

11. "แก้ตัว" ... ช่วยอะไรไม่ได้ "แก้ไข" ... ช่วยได้ทุกอย่าง ...

12. เมื่อมีปัญหาในครอบครัว อย่าลืมใช้ความรักและหลักเหตุผล เป็นกรรมการตัดสิน ไม่ใช้ อารมณ์หรืออาวุธ..

13. งอนแต่พองาม ... ก็งามดี แต่งอนเกินพอดี ก็เกินงาม ...

14. ต่างคนต่างแข็ง ไม่มีใครยอมอ่อนข้อต่อกัน ... บ้านก็คงไม่ต่างอะไรกับสนามรบ

15. เมื่อสามีอ่อนแอ ไม่รับบทบาทผู้นำ ความสับสนวุ่นวายก็ตามมา หรือเมื่อภรรยา พยายามแย่งบทบาทการนำจากสามี ชีวิตครอบครัวก็รอดยาก

16. ความไม่ซื่อสัตย์ ต่อกันเพียงครั้งเดียว ก็อาจสั่นคลอนความไว้วางใจที่มีให้กันได้ ท้ายที่สุดชีวิตคู่ก็จบลงด้วยความแตกร้าว ยากเยียวยา

17. ความเห็นแก่ตัว สนใจแต่ปัญหา อารมณ์ ความรู้สึก และความสนใจของตัวเอง ชีวิตคู่ก็อยู่ด้วยกันยาก

18. ก่อหนี้สินจนล้นพ้นตัว ครอบครัวก็มีแต่ความตึงเครียดทุกเช้าเย็น

19. เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือทั้งสองฝ่ายเรียกร้อง และคาดหวังจากกันและกันมากเกินพอดี ปัญหาก็จะมีเรื่อยไป …ไม่สิ้นสุด

20. ควรตระหนักว่า ... ภรรยา ไม่ใช่ผู้ปรนนิบัติรับใช้สามีแท้จริงแล้ว สามีภรรยา ควรเอาใจใส่ดูแลกันและกันอย่างดีที่สุด ... ย่อมดีกว่า

21. ไม่มีอะไร ทำให้ภรรยาปวดร้าวใจ มากเท่าการค้นพบว่า สามีมีหญิงอื่นในหัวใจ

22. รักเดียว ... ใจเดียว ไม่ใช่เรื่องเชย แต่เป็นเรื่องดีที่สามีทุกคนในโลกควรกระทำ

23. การขอโทษภรรยาเมื่อทำผิด ไม่ใช่เรื่องเสียศักดิ์ศรี แต่เป็นศักดิ์ศรีของสามี ... ที่แท้จริง

24. ไม่ควรมองว่า งานดูแลบ้าน เป็นความรับผิดชอบของภรรยา สามีควรมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระอย่างสุดความสามารถเสมอ

25. สรีระรูปร่างหน้าตา ที่เปลี่ยนไปของภรรยา ไม่ควรเป็นเหตุให้ความรักในหัวใจของสามี จืดจางลงแม้แต่น้อย

26. ควรระลึกอยู่เสมอว่า ... การนำครอบครัวนั้น คือ การนำโดยเห็นผลประโยชน์ของครอบครัวเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อความสุข ความพึงพอใจของตนเอง

27. ภรรยาที่ดี ควรสนับสนุนสามีให้ก้าวไกลในชีวิต ไม่ใช่ดึงรั้งให้หยุดอยู่กับที่ หรือถอยหลัง

28. ภรรยาที่ดี ไม่ควรใช้วิธีการบีบบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้สามีตัดสินใจตามความคิดของตน

29. ในสถานการณ์หน้าสิ่ว หน้าขวาน สามีต้องการภรรยาที่สงบนิ่ง ช่วยกันคิดหาทางออก ไม่ใช่ภรรยาที่เอาแต่โวยวาย ตีโพย ตีพายหรือร้องไห้ฟูมฟาย โดยปล่อยให้เขาต้องแบกภาระหนักอึ้งเพียงลำพัง

30. การไม่ตีลูก เพราะกลัวลูกเจ็บ เมื่อยังเป็นเด็ก กลับจะทำให้เขาเจ็บปวดยิ่งกว่า เมื่อเขาโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ที่สร้างปัญหา และถูกลงโทษ ... จากสังคม

31. ช่องว่างระหว่างวัย ... ระหว่างรุ่น ... ย่อมไม่มี ถ้าพ่อแม่ตระหนักถึงความสำคัญ และใช้ความพยายามที่มากพอ วิธีที่ดีที่สุด คือ พ่อแม่ควรวางแผนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดกับลูก ไม่ใช่ตามแก้ปัญหาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว

32. พึงตระหนักว่า ลูกไม่ใช่ดินน้ำมัน ที่พ่อแม่อยากจะปั้นให้เขาเป็นอะไรก็ได้ตามใจชอบ เขาย่อมมีจิตใจที่มีเอกลักษณ์แห่งความชอบความสนใจที่แตกต่างไปจากพ่อแม่ได้เสมอ

Thursday, July 15, 2010

Kriengsak Chareonwongsak thought of harvard foursquare

Hope you like this article from dr Kriengsak Chareonwongsak



ฮาร์วาร์ด: Foursquare กับบริการทางการศึกษา

ที่ผ่านมาฮาร์วาร์ดได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้นำด้านการเป็นมหาวิทยาลัยร่วมสมัยที่มีการประยุกต์ใช้และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการจัดการศึกษา ล่าสุดที่ผ่านมา ฮาร์วาร์ดได้นำ Foursquare หรือ บริการบนเว็บไซต์และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเกิดมาจากการผสมผสานกันระหว่างเครือข่ายทางสังคมและสถานที่ เพื่อใช้สำหรับบอกตำแหน่งที่อยู่ของผู้ใช้บริการ โดยแจ้งผ่านทางโทรศัพท์มือถือเข้ามาใช้ภายในมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่ได้เชื่อมโยงบริการ Foursquare เข้ากับการให้บริการทางการศึกษา นับตั้งแต่ที่มีการเปิดใช้บริการดังกล่าวครั้งแรกทั่วโลกในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2009 ที่ผ่านมา

เป้าหมายหลักของการประยุกต์ใช้ Foursquare ในการให้บริการการศึกษาของฮาร์วาร์ดมี 2 ประการ คือ
  1. อำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษา คณาจารย์ พนักงาน และผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยในการสำรวจและค้นหาสถานที่สำคัญ ๆ ในบริเวณวิทยาเขตที่ตั้งมหาวิทยาลัยและบริเวณละแวกใกล้เคียง เนื่องจากฮาร์วาร์ด มีชั้นเรียนและอาคารอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งบริการ Foursquare นี้นอกจากจะช่วยให้ผู้ใช้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา คณาจารย์ พนักงาน และผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยรู้ตำแหน่งของเพื่อนในเครือข่ายว่าอยู่ที่ใดแล้ว ยังสามารถดึงข้อมูลตำแหน่งของสถานที่ต่าง ๆ ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงมาแสดงได้อีกด้วย ในกรณีที่มีสถานที่นั้นในฐานข้อมูลของ Foursquare แต่หากไม่มีผู้ใช้บริการสามารถเพิ่มข้อมูลของสถานที่ใหม่เข้าไปได้เอง อันเป็นการช่วยเปิดโลกทัศน์ให้ผู้ใช้ได้รู้จักสถานที่ใหม่ ๆ มากขึ้น ซึ่งในที่นี้ครอบคลุมไปถึงร้านค้า ภัตตาคาร บริษัทธุรกิจ และสถานที่ที่ผู้คนมาพบปะหรือชุมนุมกันบริเวณฮาร์วาร์ดสแควร์ด้วย ซึ่งผู้บริหารทางด้านการสื่อสารของฮาร์วาร์ด คาดหวังว่า บริการดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกและเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักศึกษา คณาจารย์ และพนักงานในมหาวิทยาลัย
  2. ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายทางสังคมภายในมหาวิทยาลัยและเชื่อมโยงสู่ภายนอก ด้วยการเปิดโอกาสและเพิ่มช่องทางที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิด ประสบการณ์ระหว่างกัน รวมทั้ง ช่วยให้ผู้ใช้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา คณาจารย์ และพนักงานในมหาวิทยาลัยได้รู้จักกันและกันมากขึ้น อาทิ การรู้จักสถานที่โปรดที่เพื่อนในเครือข่ายชอบไปเป็นประจำ การได้รับคำแนะนำในเรื่องสถานที่ที่น่าสนใจ สิ่งที่ควรทำหรือรายการอาหารที่อยากแนะนำเมื่อไปยังสถานที่นั้น นอกจาก Foursquare จะช่วยส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายทางสังคมภายในมหาวิทยาลัยแล้ว บริการดังกล่าวยังสามารถเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายทางสังคมขนาดใหญ่อื่น ๆ ภายนอกมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย เช่น Face book และ Twitter เป็นต้น
ประยุกต์สู่ประเทศไทย โลกมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยทั่วโลกต่างพยายามพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้เข้ามารใช้ในระบบการศึกษา มหาวิทยาลัยไทยก็เช่นกัน ควรเปิดมุมมองในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาใช้ในการบริการทางการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ยิ่งกรณีที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ อาจเริ่มจากเปิดโอกาสให้บริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีนั้น เข้ามามีส่วนลองประยุกต์เทคโนโลยีนั้นกับบริการทางการศึกษาและนำเสนองานต่อ มหาวิทยาลัย การแข่งขันการเสนอการใช้เทคโนโลยีในมหาวิทยาลัย มีการทดลองใช้ เป็นต้น อันจะทำให้เกิดความแตกต่างซึ่งอาจเป็นจุดในการแข่งขันการบริการอุดมศึกษา การเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการระดับอุดมศึกษาด้วย

วันที่ : 22 มกราคม 2553 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ : คอลัมน์สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด

หลังกำแพงฮาร์วาร์ด


ประวัติโดยย่อ ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาล สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยมอแนช ประเทศออสเตรเลีย ได้รับปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา


ท่านเคยเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมอแนช เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยทำงานวิจัยในศูนย์วิจัยทางเศรษฐศาสตร์ อิมแพคท์รีเสิร์ช ของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เคยทำงานที่องค์การโทรคมนาคม ออสเตรเลีย เคยเป็นผู้อำนวยการสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา เคยเป็นที่ปรึกษาประธานรัฐสภา เคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เคยเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เคยเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ หลายกระทรวง เคยเป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร เคยเป็นประธานคณะทำงานการศึกษา ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและ รองประธานคณะทำงานการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เคยเป็นที่ปรึกษาและกรรมการในหน่วยงานต่างๆ กว่า 50 ตำแหน่ง ตามที่ท่านได้รับตำแหน่งอันสำคัญจำนวนมากในหน่วยงานระดับชาติและนานาชาติ ทำให้ท่านได้นำความรู้ความสามารถมาช่วยเหลือประเทศชาติ

ปัจจุบันท่านเป็นนักวิชาการอาวุโส (Senior Fellow) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ( Harvard University) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นนักวิชาการประจำวิทยาลัยธุรกิจ( Said Business School) มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด(Oxford University) ประเทศอังกฤษ เป็นประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา เป็นศาสตราจารย์วิจัย ประจำมหาวิทยาลัยรีเจนท์สหรัฐอเมริกา และยังเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนั้นท่านเป็นประธานกรรมการกลุ่มบริษัทซัคเซส

ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหาร เป็นนักวิชาการ เป็นนักคิด ได้รับเชิญไปบรรยายทั้งในและต่างประเทศทั่วโลกกว่า 2,200 ครั้งใน 50 ประเทศ มีประสบการณ์ในฐานะผู้ผลิตและพิธีกรรายการโทรทัศน์ รายการวิทยุที่ส่งเสริมวิสัยทัศน์ให้สังคมไทย มีผลงานแสดงความคิดเห็นและเป็นคอลัมนิสต์ประจำสื่อต่างๆ มีงานเขียนให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย อาทิงานเขียนบทความทางวิชาการ บทความแสดงความคิดเห็นตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษกว่า 3,000 เรื่อง รวมทั้งท่านได้เขียนหนังสือในหลากหลายสาขาทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การบริหาร การศึกษา ซึ่งในจำนวนนั้นยังมีจำหน่ายในท้องตลาดราว 150 เล่ม หนังสือที่ท่านเขียนหลายเล่มเป็นหนังสือที่ติดอันดับหนังสือขายดี

นอกจากนี้ ท่านยังอุทิศตัวช่วยงานหน่วยงานต่างๆ อีกจำนวนมาก อาทิ เป็นนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมไทย-ออสเตรเลียน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เป็นนายกกิตติมศักดิ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นต้น


ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

http://www.hks.harvard.edu/m-rcbg/fellows/formerfellows.htm
http://www.oii.ox.ac.uk/people/visitors.cfm?id=114
http://www.siamaraya.net/

ความหวังต่อประเทศไทย

mv ที่เกี่ยวข้อง








หนังสือที่เกี่ยวข้อง



http://www.kriengsak.com/