Thursday, March 15, 2012

Entertainment Complex by professor kriengsak chareonwongsak

Entertainment Complex: คำถามที่รัฐบาลต้องตอบ
กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมอีกครั้ง หลังจากที่ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเสนอแนวคิดที่จะให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติสลากกินแบ่ง เพื่อให้สำนักงานสลากกินแบ่งฯสามารถดำเนินกิจการได้กว้างขึ้น รวมถึงการจัดตั้งและดำเนินกิจการแหล่งบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex ด้วย

แนวคิดเบื้องต้นของการจัดตั้ง Entertainment Complex คือ สถานที่ที่รวบรวมบริการต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งคาสิโน ร้านค้า สนามกอล์ฟ ธุรกิจบันเทิงต่างๆ หรือแม้กระทั่งโรงเรียนกวดวิชา เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวสามารถเข้าไปใช้บริการได้ โดยพื้นที่หนึ่งที่เป็นเป้าหมายของการจัดตั้งแหล่งบันเทิงครบวงจร คือ ทุ่งกุลาร้องไห้ ด้วยเหตุที่ไม่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม

แนวคิดการจัดตั้งคาสิโนหรือบ่อนการพนันถูกกฎหมาย ได้เคยถูกนำเสนอขึ้นมาในยุครัฐบาลทักษิณ1 โดยรัฐบาลได้ทำหนังสือไปยังสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อขอคำปรึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการพนัน 3 ประเภทให้ถูกกฎหมาย คือ การจัดตั้งบ่อนการพนัน หวยใต้ดิน และการพนันฟุตบอล ซึ่งถือเป็นคำขอครั้งแรกและอาจเป็นครั้งเดียวที่รัฐบาลได้ยื่นให้สภาที่ปรึกษาฯ ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานศึกษาแนวทางจัดการพนันในสังคมไทย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งผมเป็นคณะทำงานอยู่ในเวลานั้น ได้ทำการศึกษาจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล โดยจุดยืนของสภาที่ปรึกษาฯ ในเวลานั้นไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งบ่อนการพนันถูกกฎหมาย

ในความเห็นของผม ไม่ได้ต่อต้านแนวคิดการจัดตั้งบ่อนพนันถูกกฎหมายแบบหัวชนฝา แต่การดำเนินนโยบายที่อ่อนไหวและเป็นข้อถกเถียงของสังคมเช่นนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาและดำเนินการอย่างรอบคอบ ซึ่งผมเห็นว่ามีคำถามสำคัญที่ควรพิจารณา ดังนี้

ส่งผลกระทบทางสังคมอย่างไร?

ข้อเสนอของผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลระบุถึงประโยชน์ของการจัดตั้งแหล่งบันเทิงครบวงจรหลายประการ ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ของรัฐบาล สร้างงาน พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ลดการไหลออกของเงินตรา และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะผลกระทบทางสังคม อาทิ ปัญหาหนี้สิน ปัญหาครอบครัว ปัญหาอาชญากรรม การป้องกันการใช้คาสิโนเป็นแหล่งฟอกเงิน บรรทัดฐานของสังคมที่เสื่อมถอยลง เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องทำการศึกษาผลดี-ผลเสียของการจัดตั้งบ่อนถูกกฎหมายอย่างรอบด้าน และศึกษาบทเรียนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ได้เปิดบ่อนพนันถูกกฎหมายด้วย

นอกจากนี้ ความเชื่อเกี่ยวกับผลดีบางประการของการมีบ่อนถูกกฎหมายนั้นจำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์เช่นกันว่าเป็นจริงตามที่เชื่อหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นการมีบ่อนการพนันถูกกฎหมายอาจไม่ทำให้บ่อนเถื่อนหมดไปก็เป็นได้ แต่อาจทำให้การแข่งขันในตลาดบ่อนพนันรุนแรงมากขึ้น ทำให้บ่อนพนันเถื่อนและบ่อนในประเทศเพื่อนบ้านต้องปรับกลยุทธ์เพื่อดึงดูดนักพนันเข้าบ่อนมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ตลาดการพนันในประเทศมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นและมีจำนวนนักพนันมากขึ้น

กลุ่มเป้าหมายคือใคร?

แนวคิดการจัดตั้งคาสิโนของ ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ดูเหมือนว่า มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสองกลุ่ม คือ นักท่องเที่ยวต่างประเทศและนักพนันชาวไทย (แต่การจัดตั้งคาสิโนในทุ่งกุลาร้องไห้อาจดึงดูดคนในประเทศมากกว่าจะเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ) ซึ่งแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศที่จัดตั้งบ่อนการพนันถูกกฎหมายโดยมุ่งเป้าในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลักมิใช่คนในประเทศ

ทั้งนี้ความพยายามดึงดูดกลุ่มเป้าหมายทั้งสองกลุ่มอาจทำให้เกิดปรากฎการณ์ได้อย่าง-เสียอย่างกล่าวคือ ทำให้นักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่ก็ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เข้าบ่อนเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งกลับทำให้นักพนันหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

อีกประเด็นที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ แนวคิดที่พยายามทำให้ entertainment complex เป็นสถานที่ที่ทุกคนในครอบครัวเข้าใช้บริการได้ โดยการรวบรวมแหล่งบันเทิงทุกรูปแบบ แม้กระทั่งโรงเรียนกวดวิชาเข้าไปอยู่ด้วย เพราะมีความเสี่ยงที่ทำให้เด็กและเยาวชนมีค่านิยมที่ผิดเกี่ยวกับการพนัน และดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่หนทางอบายมุข

มีกลไกการตรวจสอบ ควบคุมและป้องกันอย่างไร?


การจัดตั้งบ่อนการพนันถูกกฎหมายอยู่บนตรรกะที่ว่า ในเมื่อนักพนันชาวไทยจำนวนมากเดินทางไปเล่นการพนันในประเทศเพื่อนบ้าน หรือลักลอบเล่นการพนันในบ่อนเถื่อนอยู่แล้ว เหตุไฉนประเทศไทยจึงไม่จัดตั้งบ่อนถูกกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้สิ่งผิดกฎหมายที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดิน เพื่อทำให้สามารถตรวจสอบและควบคุมได้

ตรรกะดังกล่าวเป็นประเด็นที่น่าพิจารณา เพราะหลายประเทศในโลกได้ใช้แนวคิดนี้ในการจัดการกับกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์ โดยเปลี่ยนจากการกำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เกิดการลักลอบทำกิจกรรมเหล่านี้ในแบบใต้ดิน ให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายแต่ต้องดำเนินการภายใต้ขอบเขตที่กำหนด มีกลไกการควบคุม รวมทั้งการบำบัดผู้เสพติดกิจกรรมเหล่านี้ และป้องกันผู้เสพรายใหม่

หากรัฐบาลจะดำเนินการจัดตั้งคาสิโนถูกกฎหมาย ประเด็นสำคัญที่สุดคือ รัฐบาลจะออกแบบสถาบันหรือกลไกการการตรวจสอบ ควบคุมและป้องกันอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและผลกระทบดังที่ได้กล่าวข้างต้น รวมทั้งมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดนักพนันรายใหม่ได้อย่างไร และมีกลไกการบำบัดผู้ที่ติดการพนันอย่างไร ซึ่งผมเห็นว่าการจัดตั้งคาสิโนในบริบทสังคมไทยมีความเสี่ยงมาก เพราะการบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ

การบริหารจัดการรายได้รัฐบาลที่ได้รับจากกิจการแหล่งบันเทิงครบวงจรเป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะดูเหมือนว่าสำนักงานสลากกินแบ่งพยายามเสนอให้ลดสัดส่วนการนำส่งรายได้เข้ารัฐ แต่ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยมีคณะกรรมการควบคุมดูแลการบริหารจัดการกองทุน ซึ่งผมเกรงว่า จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้รัฐบาลในการใช้เงินนอกงบประมาณโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา

นอกเหนือจากการพิจารณาเพื่อตอบคำถามข้างต้นแล้ว อีกคำถามที่รัฐบาลควรพิจารณาควบคู่ไปด้วย คือ มีทางเลือกอื่นที่สามารถตอบโจทย์และวัตถุประสงค์ของรัฐบาลได้ดีกว่า มีความเสี่ยงน้อยกว่าและมีผลกระทบน้อยกว่าการจัดตั้ง entertainment complex หรือไม่



บทความจาก Professor Kriengsak Chareonwongsak

Thai Think Tank for ASEAN Community

การเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียน
เมื่อไม่นานมานี้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ได้จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2554 ในหัวข้อการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 

ผมในฐานะอดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ขอชื่นชมการทำงานของสภาที่ปรึกษาฯ เป็นอย่างยิ่งที่แสดงออกถึงความกระตือรือร้นในเรื่องนี้ 

เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาการริเริ่มในการสร้างความเข้าใจการเตรียมความพร้อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนที่มาจากฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลยังมีค่อนข้างน้อย สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากภาคเอกชน ภาควิชาการ สื่อ องค์กรอิสระต่างๆ ไม่ได้เป็นผู้ริเริ่ม 

ที่สำคัญคนไทยจำนวนมากยังไม่ตื่นตัวในการเข้าเป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 บางส่วนเข้าใจว่าประชาคมอาเซียนกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นคำที่พบบ่อยกว่านั้นเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ความจริงแล้ว ประชาคมอาเซียนนั้นเป็นประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งในปี พ.ศ.2558 อาเซียนจะเริ่มเป็นประชาคมเดียวกันครอบคลุมทั้ง 3 เสาหลักนี้ (ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวเท่านั้น) และค่อยพัฒนามากขึ้นไปตามลำดับ 

ในขณะนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 3 ปีเศษก่อนที่ไทยจะเข้าสู่การเป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียน ผมอยากเห็นรัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้าใจ การเตรียมความพร้อมให้กับคนไทยอย่างแท้จริง เพื่อประเทศไทยจะไม่พลาดโอกาสจากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนและเพื่อที่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นจะไม่รุนแรงจนเกินไป 

ข้อเสนอในการเตรียมความพร้อมนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมากจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในที่นี้ผมอยากขอเสนอแนะเพิ่มเติมในเรื่องนี้บางประการ คือ 

จัดทำงบประมาณในปี 2555-2558 แต่ละปีอย่างเจาะจงในยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมของคนไทยเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนในเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ไว้ที่ 2.33 ล้านล้านบาท ขาดดุล 3.5 แสนล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณปี 2554 แต่ยังไม่ทราบว่างบประมาณดังกล่าวถูกใช้จ่ายอย่างไรในรายละเอียด 

แม้เรื่องการนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในปี 2558 เป็นเรื่องที่รัฐบาลประกาศว่าจะให้ความสนใจ แต่หากไม่มีการจัดสรรงบประมาณในเรื่องนี้เจาะจง รัฐบาลอาจมีแนวโน้มในการจัดสรรงบประมาณและกระจายทรัพยากรไปทำในเรื่องอื่นที่ไม่อาจเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

ผมคิดว่ารัฐบาลต้องบูรณาการแผนงานและงบประมาณของกระทรวงและกรมต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงทางเศรษฐกิจที่รับผิดชอบในเรื่องการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรม และการเมืองและความมั่นคงด้วย โดยแต่ละด้าน รัฐบาลต้องมีตัวชี้วัดอย่างชัดเจนว่าการดำเนินการในแต่ละปีงบประมาณต้องการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายใดบ้าง

ตั้งศูนย์ศึกษาประเทศเพื่อนบ้านให้ครบทุกประเทศในอาเซียน และตั้ง สำนักงานคลังสมองไทยเพื่อประชาคมอาเซียน เพื่อเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายศูนย์ศึกษาฯ

ความรู้เป็นสิ่งสำคัญในการเตรียมความพร้อม การวางแผน และการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนในอนาคต ดังนั้นจึงจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นคลังสมอง หรือ Think Tank ในการศึกษาวิจัย วางแผนดำเนินการ และให้สนับสนุนองค์ความรู้แก่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ประกอบการ นักวิชาการ นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไป

ปัจจุบันประเทศไทยมีศูนย์อาเซียนศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Spirit of ASEAN ศูนย์ลาวศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศูนย์อินโดนีเซียศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และศูนย์อินโดจีนศึกษา (ซึ่งมีศูนย์ย่อยประกอบด้วย ศูนย์กัมพูชา ศูนย์เวียดนาม ศูนย์ลาว ศูนย์พม่า และศูนย์มาเลเซีย) ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ศูนย์ศึกษาเหล่านี้อาจมีมากกว่าที่ผมได้กล่าวถึง แต่อย่างไรก็ตามศูนย์บรูไนศึกษา ศูนย์ฟิลิปปินส์ศึกษา ศูนย์สิงคโปร์ศึกษา นั้นดูเหมือนยังไม่เกิดขึ้น 

ภาครัฐควรสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยไทยจัดตั้งศูนย์ศึกษาประเทศต่างๆ ในอาเซียนให้ครบถ้วน และให้ศูนย์เหล่านี้ศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมของไทยไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตามแกนของเสาหลักของประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ประเทศไทยควรจะมีการจัดตั้งสำนักงานคลังสมองไทยเพื่อประชาคมอาเซียน (Thai Think Tank for ASEAN Community) ภายใต้สำนักงานเลขานุการกรมอาเซียน เพื่อทำหน้าที่ในการประสานงาน สนับสนุนเรื่องงบประมาณในการศึกษาวิจัยและประชาสัมพันธ์เครือข่ายศูนย์ศึกษาต่างๆ เหล่านี้ให้เป็นที่รู้จัก เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลจากศูนย์เหล่านี้ได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากที่สุด เ

รัฐบาลเข้ามาและทำงานอยู่เพียง 4 ปีก็ไป แต่ประชาชนไทยภายหลังเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนแล้วยังคงต้องกลายเป็นพลเมืองของอาเซียนไปอีกนานเท่านาน หากรัฐบาลประกาศว่าต้องการเข้ามาทำหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการวางนโยบายระยะยาวเพื่อวางรากฐานให้ประชาชนในวันนี้และอนาคตมากกว่าการดำเนินนโยบายประชานิยมระยะสั้นเพื่อคะแนนเสียงของตัวเองเท่านั้น


อ่านบทความอื่น ๆ ได้ ที่ http://www.drdancando.com/