Wednesday, January 25, 2012

ค่าจ้างขั้นต่ำ


ค่าจ้างขั้นต่ำ 250 บาท ทั่วประเทศ!!

                
      ที่มาของภาพ  http://hilight.kapook.com/img_cms2/sport/100_14.jpg
         เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ออกมาแสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 250 บาทต่อวัน อัตราเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นในการถกเถียง อย่างกว้างขวางในสื่อต่างๆ ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยแรงงานส่วนใหญ่แสดงความเห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากตนเองได้รับประโยชน์ ขณะที่นักวิชาการและนักธุรกิจส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่ามีผลกระทบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า ซึ่งเป็นอาการที่คาดเดาได้แทบจะทุกครั้งที่มีการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
สำหรับการโยนหินถามทางของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ มีประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่จะหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันดังนี้
ควรขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250 บาทหรือไม่?
ในความเห็นส่วนตัว ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน แรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำยังมีภาวะความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก โดยแรงงานไร้ฝีมือในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 6 จังหวัดได้รับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 206 บาทต่อวันใน ขณะที่จังหวัดอื่นได้รับค่าจ้างลดหลั่นกันลงไปถึงกระนั้น การขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำมีปัจจัยและเงื่อนไขที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณาด้วยหลักการทางเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ แรงงานควรได้รับค่าจ้างเท่ากับผลผลิตส่วนเพิ่มที่แรงงานผลิตได้ (หรือผลิตภาพของแรงงาน) หรือหมายความว่า แรงงานควรได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น หากสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้น
สำหรับข้อเสนอการเพิ่ม ค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250 บาทต่อวันมีความเหมาะสมหรือไม่นั้น จึงควรพิจารณาว่าเป็นระดับค่าจ้างที่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพของ แรงงานหรือไม่ หากแรงงานในระบบมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นเหมาะสมกับค่าจ้าง 250 บาทต่อวัน รัฐบาลก็ควรขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามข้อเสนอนี้ แต่หากผลิตภาพของแรงงานต่ำกว่า ค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่ควรจะเพิ่มขึ้นถึง 250 บาทต่อวัน เพราะการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานในช่วงเวลา หนึ่งๆ นั้น เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ผลิต โดยทำให้ต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้น โดยผลผลิตไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ผู้ผลิตอาจหันไปลงทุนในเทคโนโลยีมากขึ้น หรืออาจหันไปใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่มีราคาถูกกว่า ซึ่งทำให้แรงงานไทยมีการว่างงานเพิ่มขึ้น
อย่างไร ก็ดี ในกรณีที่ผู้สนับสนุนการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250 บาทต่อวันทันที โดยให้เหตุผลว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานถึงประมาณ 4 เท่านั้น ผมเห็นว่าการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างอย่างรวดเร็วเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา เนื่องจากระดับราคาสินค้าสูงขึ้นจากการที่แรงงานมีราคาแพงขึ้น และที่สำคัญยังอาจทำให้แรงงานที่มีอยู่ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาความรู้ความ สามารถเพื่อที่จะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากไม่ต้องทำอะไร ก็ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรพิจารณาถึงภาวะของตลาดแรงงานด้วย เพราะค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้องกับระดับค่าจ้างที่เป็นไปตามกลไกตลาดนั้น จะไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ หรือหากภาครัฐสามารถบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำได้จริง แต่ค่าจ้างขั้นต่ำกลับสูงกว่าอัตราค่าจ้างในท้องตลาด จะเป็นการผลักดันให้นายจ้างต้องลดการจ้างงานในระบบลง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการว่างงานมากขึ้น หรือทำให้แรงงานต้องออกไปอยู่นอกระบบมากขึ้น
ควรกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวกันทั่วประเทศหรือไม่?
ประเด็น นี้ผมเห็นว่าไม่มีความจำเป็น เนื่องจากผลิตภาพของแรงงานและความต้องการแรงงานในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทุกจังหวัดจึงไม่สอดคล้องกับต้นทุนการครองชีพ ของแรงงานในแต่ละพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้การลงทุนภาคอุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ใน กทม.และปริมณฑลมากขึ้น ไม่เกิดการกระจายตัวของการลงทุนไปยังต่างจังหวัด และทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานใน กทม. แต่แรงงานในต่างจังหวัดกลับมีจำนวนแรงงานมากเกินความต้องการ ซึ่งจะทำให้เกิดการอพยพของแรงงานเข้ามาทำงานใน กทม. มากขึ้นไปอีก
แม้ ว่าผู้สนับสนุนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศได้ให้เหตุผลว่า ค่าครองชีพในต่างจังหวัดสูงกว่าในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยอ้างถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางและราคาสินค้า เพราะสินค้าส่วนใหญ่ผลิตจากกรุงเทพฯและปริมณฑลแล้วขนส่งไปยังต่างจังหวัด แม้เหตุผลนี้อาจเป็นจริงก็ตาม แต่ผมเห็นว่า  ค่าใช้จ่ายของแรงงานแต่ละคนยังมีค่าใช้จ่ายด้านที่พักอาศัย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่มีสัดส่วนสูง และเป็นต้นทุนการครองชีพที่สูงมากสำหรับแรงงานในเมือง เมื่อเทียบกับค่าเช่าบ้านในต่างจังหวัดที่ค่อนข้างต่ำ และถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางในต่างจังหวัดจะสูงกว่าใน กทม. แต่อาจถูกชดเชยโดยการไม่เสียค่าที่พัก เพราะแรงงานสามารถพักอาศัยที่บ้านของตนเองได้ นอกจากนี้แรงงานในต่างจังหวัดยังมีโอกาสลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ได้อีก เช่น การหาอาหารได้จากแหล่งอาหารตามธรรมชาติ เป็นต้น

สำหรับ ผมแล้ว ผมเคยนำเสนอแนวคิดของผมเกี่ยวกับระบบการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำไว้ในบทความ เรื่อง “กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไร..จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด?” เผยแพร่ในเว็บไซต์ของผม เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2548ซึ่งโดยสรุปแล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่ภาครัฐควรทำในเรื่องนี้ คือ
พัฒนาเครื่องมือในการวิเคราะห์ผลกระทบจากการปรับโครงสร้างค่าจ้างแรงงานโดย เฉพาะการจัดทำแบบจำลองเศรษฐกิจ (Economic model) เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดยมีการคำนึงถึงประเด็นเรื่องผลิตภาพของแรงงานอย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้สามารถประเมินผลดี-ผลเสียของการปรับอัตราค่าจ้าง และทำให้กระบวนการกำหนดอัตราค่าจ้างมีผลการศึกษาวิเคราะห์รองรับและมีความ เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องใช้ดุลพินิจหรืออำนาจต่อรองของภาคีต่าง ๆ แต่เกิดจากการคำนวณบนฐานทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และข้อมูลจริงทางเศรษฐกิจ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดความสงสัยของสังคม รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้างได้อีกด้วย
กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำรายอำเภอและรายอุตสาหกรรมตาม ที่ได้อธิบายเหตุผลไปข้างต้นว่าไม่ควรกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทุกพื้นที่ และทุกอุตสาหกรรม ยิ่งกว่านั้นผมคิดว่าควรให้เจาะจงในรายพื้นที่ ซึ่งหากมีการพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจลงรายละเอียดมากกว่ารายจังหวัด โดยอาจแยกย่อยเป็นรายอำเภอได้จะยิ่งดี เนื่องจากแต่ละพื้นที่ในประเทศหรือแม้แต่ในจังหวัดเดียวกันอาจมีค่าครองชีพ แตกต่างกัน การพิจารณาข้อมูลลงลึกรายอำเภอจะสะท้อนต้นทุนแรงงานที่แท้จริงได้ดีกว่า

โดย สรุปแล้วการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐในลักษณะนี้จะเป็นประเด็นถกเถียง และอภิปรายเรื่อยไปในทุกครั้ง หากยังคงระบบและวิธีการแบบเดิมเอาไว้ ซึ่งอาจเป็นวิธีการที่ “ง่าย”กว่าการแก้ไข ซึ่งต้องลงแรง อีกทั้งยัง “ได้คะแนนเสียง”จากประชาชน (แม้ว่าค่าจ้างจะขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม)
ผมหวังว่าผมจะได้เห็นการช่วยเหลือประชาชนที่แท้จริงจากภาครัฐมากกว่าการให้ความหวังแก่ประชาชนไปวันๆ เท่านั้น


ได้รับการตีพิมพ์จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจคอลัมน์:ทรรศนะวิจารณ์ วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553